เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ เห็นชอบแผนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ปี 64-65 เน้นเพิ่มความร่วมมือการค้าดิจิทัล การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริม SMEs เตรียมนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ เห็นชอบ ก.ย.นี้
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 34 ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อหารือแผนงานความร่วมมือฉบับใหม่ภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ สำหรับปี 2564-2565 และจะเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ในเดือนก.ย. 2564
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนและสหรัฐฯ ได้เห็นชอบร่วมกันต่อสาขาความร่วมมือภายใต้แผนงานฉบับใหม่ดังกล่าวครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น การค้าดิจิทัล แนวทางการจัดทำกฎระเบียบที่ดี การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมถึงความร่วมมือด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า
ขณะเดียวกัน ภายใต้แผนงานฉบับใหม่มีกิจกรรมความร่วมมือที่น่าสนใจ เช่น การจัดทำรายงานดัชนีการรวมกลุ่มพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียน การพิจารณาความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งออกระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การสร้างความพร้อมให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในการประกอบธุรกิจออนไลน์และการค้าดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
“คาดว่าแผนงานความร่วมมือฉบับใหม่จะช่วยสานต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ และช่วยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้อาเซียนเกิดการปรับตัวและฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้” นายดวงอาทิตย์กล่าว
ในช่วงปี 2563-2564 สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนใบรับรองสุขอนามัยพืชทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ การจัดสัมมนาเรื่องการค้าและแรงงานเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และการส่งเสริมการมีบทบาทของนักธุรกิจสตรีในอาเซียน เป็นต้น ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียน รวมถึงประเทศไทยในเวทีโลก
การค้าระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ช่วง 6 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 181,664.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 135,764.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 45,900.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันมีมูลค่า 27,049.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 19,873.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 7,175.2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ