จับตาแนวโน้มการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านและทำงานที่บ้านพุ่ง(WFH) ประชาชน และภาคธุรกิจเริ่มหันกลับมาติดตั้งลดค่าใช้จ่ายรวมถึงการรับมือกับกติกาลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจในอนาคต ขณะที่ผู้ประกอบการติดตั้งแข่งเดือดเหตุมีผู้เล่นจำนวนมากแนะผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการติดตั้งให้ดีหลังเริ่มมีแผงโซลาร์ฯปลอมระบาด
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์ รูฟท็อป)ทั้งบ้านที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการต่างๆ กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ที่ต้องล็อกดาวน์ทำให้หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน มีการทำงานที่บ้าน(Work From Home)เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงขึ้นจึงผลักดันให้ประชาชนหันมาติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ภาคธุรกิจต่างๆ นอกเหนือจะประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วยังมองในเรื่องของพลังงานสะอาดที่เป็นเทรนด์ของโลกและนโยบายของไทยที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อร่วมลดภาวะโลกร้อน
“ ช่วงโควิด-19 ที่ระบาดที่ผ่านมามีการชะลอการติดตั้งไปบ้างแต่พอรอบนี้ผ่านไปสักพักทุกอย่างก็เริ่มกลับมาเพราะทุกคนเริ่มปรับตัว และเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้นในเรื่องค่าไฟฟ้าที่สูงเพราะการล็อกดาวน์ที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน การทำงานที่บ้านที่ยังคงมีอยู่และบางบริษัทเริ่มให้บางแผนกทำถาวร ประกอบกับปีนี้อากาศค่อนข้างร้อนแม้จะมีฝนตกก็ตาม ขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์ฯ ไม่ได้แพงเช่นอดีตและเริ่มใช้ระยะเวลาคุ้มทุนที่สั้นเหลือเพียง 4-6 ปีเท่านั้นสำหรับบ้านอยู่อาศัยและส่วนหนึ่งรัฐได้มีมาตรการส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกิน 2.20 บาทต่อหน่วย”นายพลกฤตกล่าว
ทั้งนี้จากการติดตามข้อมูลการติดตั้งฯพบว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของบ้านที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งพบว่าพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งการทำงานที่บ้านที่สูงขึ้น ยังพบว่าลูกบ้านที่เป็นคนรุ่นใหม่บางส่วนมีการหารายได้จากการเทรดหุ้นผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และรวมถึงการขุดบิตคอยน์(เงินตราแบบดิจิทัล)ที่ต้องใช้ไฟค่อนข้างสูงจึงเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์ฯเพื่อลดต้นทุนมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่การติดตั้งโซลาร์ฯในสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า โรงงาน ฯลฯยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจะเป็นการเติบโตในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Private PPA คือผู้ประกอบการติดตั้งฯจะลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและดูแลแบบครบวงจรทั้งหมดโดยผุ้เป็นเจ้าของหลังคาอาคารหรือโรงงานตกลงในเรื่องไฟฟ้าที่จะได้รับว่าจะเป็นสัดส่วนเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของอาคารพาณิชย์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุน ซึ่ง ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่นิยมใช้รูปแบบดังกล่าวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการติดตั้งแผงโซลาร์ฯมีจำนวนมากโดยผู้ติดตั้งแผงที่มีขนาดใหญ่จะมีอยู่ประมาณ 20 ราย ขนาดเล็กที่ติดตั้งบ้านที่อยู่อาศัยจะมีอยู่ประมาณ 50 รายทำให้เกิดการแข่งขันค่อนข้างสูงมีโปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงลดค่าติดตั้ง ให้กับลูกค้าเลือกดังนั้นในแง่ของประชาชนจึงอยากให้ระมัดระวังเลือกบริษัทที่ควรมีทุนจดทะเบียนสูง มีประสบการณ์พอสมควร โดยสามารถติดต่อสอบถามมายังสมาคมฯได้ ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ได้รับแจ้งมาจากสมาชิกพบการติดตั้งที่มีการนำแผงโซลาร์ฯปลอมไปผสมการติดตั้งให้กับผู้บริโภคโดยแผงจะเป็นแค่การนำสติกเกอร์มาติดให้เหมือนแผงจริงๆ
ทั้งนี้แนวโน้มการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโซลาร์ฯในอนาคตมีโอกาสโตแบบก้าวกระโดดเพราะต้นทุนการผลิตไฟต่อหน่วยถูกลงต่อเนื่อง จุดคุ้มทุนเริ่มใช้เวลาไม่นานแล้วล่าสุดแบตเตอรี่ลิเธียมที่มีคุณภาพสูงเริ่มมีราคาต่ำลงและตอบโจทย์การสะสมไฟฟ้าได้มากขึ้น ประกอบกับนโยบายของรัฐโดยกระทรวงพลังงานที่ต้องขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติให้สอดรับกับบริบทของโลกในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้เป็นศูนย์ในค.ศ. 2065 – 2070 ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น