xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.ค.โตแรงบวก 20.27% ยอด 7 เดือนเกินเป้าแล้ว 4 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออก ก.ค. 64 มูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20.27% ได้ผลดีจากการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และตลาดส่งออก ดันยอดรวม 7 เดือนมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.20% ขยายตัวเกินเป้าแล้ว 4 เท่า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค. 2564 มีมูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.27% ยังเป็นการขยายตัวด้วยตัวเลข 2 หลัก และถ้าไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ จะขยายตัวถึง 25.38% และคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,651.66 ล้านบาท และส่งออกรวม 7 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.20% หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45.94% และยอดรวม 7 เดือนมีมูลค่า 152,362.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.73% เกินดุลการค้า 2,622.62 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือน ก.ค. 2564 ขยายตัวมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่ม 24.3% เป็นบวกต่อเนื่อง 8 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 80.2% ยางพารา เพิ่ม 121.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 62% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 17.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 51.7% และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เพิ่ม 8.4% และสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 18% เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่ม 39.2% ผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่ม 16% สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 59% อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 43.8% คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพิ่ม 19.3% และเหล็กเพิ่ม 59.4%

ส่วนตลาดส่งออก ขยายตัวดีเกือบทุกตลาดสำคัญ ยกเว้นตลาดเดียวคือ ออสเตรเลีย ที่ติดลบจากการส่งออกอัญมณี เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าได้ลดลง แต่รถยนต์ยังเพิ่ม 44.8% ยางพารา เพิ่ม 26.8% ขณะที่ตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 22.2% จีน เพิ่ม 41% ญี่ปุ่น เพิ่ม 23.3% อาเซียน เพิ่ม 26.9% ยุโรป เพิ่ม 20.9% อินเดีย ขอขีดเส้นใต้ ขยายตัวดีมาก เป็นอนาคตของการส่งออกไทย เพิ่ม 75.3% และตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา เพิ่ม 93.5% รัสเซีย และ CIS เพิ่ม 53%

นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ตัวเลขเดือน ก.ค.ยังคงเป็นบวกได้ได้รับผลดีจากแผนการทำงานของ กรอ.พาณิชย์ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จับมือร่วมกันเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การฟื้นตัวของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งจีน ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก (PMI) มีตัวเลขที่เกินกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดย ก.ค. 2564 อยู่ที่ 55.4 ทำให้โอกาสการซื้อขายสินค้ากับหลายประเทศในโลกเพิ่มขึ้น เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้ไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก และราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูง เมื่อน้ำมันดิบราคาสูง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ส่งออกได้ราคาดีขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนหลังตั้งแต่ก.ค. 2564 มีกิจกรรมที่จะดำเนินการไม่น้อยกว่า 130 กิจกรรม ทั้งการส่งเสริมการส่งออกในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โดยเป้าทั้งปีตั้งไว้ที่ 4% จะพยายามทำให้เกิน เพราะวันนี้ทำได้ 16.2% ถือว่าทำได้เกินเป้าไปแล้ว 4 เท่า ส่วนแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะเห็นได้ตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย. 2564 เป็นต้นไป และที่กระทบแล้ว เช่น ผลไม้ ที่ส่งออกไปจีน มีปัญหาติดขัดทางด่านบางช่วงเวลา การส่งออกน้ำยางดิบไปมาเลเซียที่ลดลง หรือโรงงานผลิตเพื่อส่งออกบางแห่งที่ต้องปิดตัว ซึ่งต้องหาทางป้องกันต่อไป และเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว มีตู้นำเข้าสูงกว่าส่งออก 1.2 แสนบีทียู แต่ปัญหาใหญ่คือ เรื่องค่าระวางมากกว่าที่แพงขึ้นและแพงทั้งโลก ซึ่งได้แก้ปัญหาด้วยการให้ SMEs รวมตัวกันจองพื้นที่เรือ รวมถึงสินค้าข้าว ที่ให้จองร่วมกัน เพราะขณะนี้ค่าระวางแพงกว่าค่าข้าวแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น