เออาร์วี จับมือ โรโตเทค จากสิงคโปร์ เปิดให้บริการ “โรโต ไคลม์เบอร์” หุ่นยนต์ตรวจสอบและบำรุงรักษาท่อแนวตั้งเครื่องแรกของโลก เพิ่มประสิทธิภาพในงานซ่อมบำรุงให้ธุรกิจปิโตรเลียม และพลังงานทางเลือก พร้อมให้บริการได้ทั้งไทย และต่างประเทศ
นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า เออาร์วี กับบริษัท โรโตเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญบริการด้านหุ่นยนต์จากสิงคโปร์ ได้ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ “โรโต ไคลม์เบอร์” (Roto Climber) เครื่องแรกของโลก เพื่อให้บริการตรวจสอบ และบํารุงรักษา รวมทั้งทําความสะอาดท่อประเภทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ท่อส่งปิโตรเลียม ท่อขุดเจาะปิโตรเลียม ท่อสูบน้ำทะเลบนแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ท่อในท่าเทียบเรือ และหอกังหันลม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาสำหรับท่อแนวตั้งครั้งแรกของโลก จากเดิมที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับท่อแนวนอนเท่านั้น
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจที่จะใช้บริการโรโต ไคลม์เบอร์
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมธุรกิจบริการด้านการตรวจสอบ และบำรุงรักษาโครงสร้าง สิ่งติดตั้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับท่อในแนวตั้ง สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ด้วยนวัตกรรมและวิธีการแบบใหม่ ขณะนี้เออาร์วี และโรโตเทคกำลังเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของโรโต ไคลม์เบอร์ไปอีกขั้น เพื่อให้บริการซ่อมแซม เจาะ และตัดโครงสร้างต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถรองรับ ตอบโจทย์ และแก้ปัญหาของธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น” นายธนากล่าว
นายไซมอน ฮาร์ท็อก กรรมการผู้จัดการ โรโตเทค กล่าวว่า โรโต ไคลม์เบอร์ปฏิบัติงานด้วยการควบคุมจากระยะไกล โดยไม่ต้องอาศัยนักประดาน้ำและเรือสนับสนุน จึงลดความเสี่ยงของบุคลากรจากการทำงานในพื้นที่อันตราย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย
โรโต ไคลม์เบอร์ปฏิบัติงานได้ทั้งในพื้นที่เหนือระดับน้ำ บริเวณระดับน้ำ และใต้ผิวน้ำลึกสุดถึง 200 เมตร หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบาจึงติดตั้งได้ง่าย โรโต ไคลม์เบอร์ ทำงานโดยยึดเกาะและเคลื่อนที่ไปตามแนวตั้งของท่อเพื่อตรวจสอบโครงสร้างของท่อโดยละเอียด สามารถวัดความหนาของผนังเพื่อตรวจจับการสึกกร่อน และทําความสะอาดโครงสร้างภายนอกไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องคุณภาพสูงเพื่อรายงานการทำงานในรูปแบบวิดีโอได้อย่างเรียลไทม์ สำหรับการติดตามและวิเคราะห์ผลอีกด้วย