xs
xsm
sm
md
lg

IRPC ทุ่ม 3 หมื่นล้านใน 5 ปี ลุยโครงการ UCF-M&A

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไออาร์พีซีแจงแผนลงทุน 5 ปีนี้ใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทลุยโครงการ UCF และการเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมเล็ง M&A เพื่อต่อยอดธุรกิจเดิม ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” เดินหน้าต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านวัสดุและพลังงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ (2564-68) จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO V (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ใช้วงเงินลงทุนราว 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การซ่อมบำรุงเครื่องจักร รวมไปถึงการร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทมองโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่มีและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสร้างนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยจะร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.และพันธมิตรอื่นๆ ในการลงทุน M&A เน้นธุรกิจสุขภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Health &Life Science) ธุรกิจ Advanced Material ต่อยอดธุรกิจเดิม ซึ่งขนาดการลงทุนไม่ใหญ่ และใช้เงินไม่สูงมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา


นายชวลิตกล่าวต่อไปว่า บริษัทได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2564 คือ การเป็นองค์กรที่ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิต ที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อม รับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ที่ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจ นับเป็นโอกาสสำคัญของบริษัทที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรด้วย

บริษัทจะให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางการแพทย์ และสุขภาพที่สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยโดยคนไทยเป็นรายแรกของประเทศ เช่น การผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown: Polypropylene Melt blown) เพื่อนำมาผลิตผ้าไม่ถักทอ 2.1 พันตัน/ปีที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หรือแม้แต่กลุ่มนวัตกรรมทางการเกษตร ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดี ช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร

สำหรับการสร้างสรรค์ด้านการใช้พลังงานนั้น บริษัทจะขยายผลธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น