xs
xsm
sm
md
lg

CRG ปรับเกมกลุุ่มไทย-จีนฟูดสู้โควิด แชร์พื้นที่-ผุดคีออสก์ร่วม-ลุยดีลิเวอรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ซีอาร์จีปรับกลยุทธ์กลุุ่มอาหารไทย-จีน Thai & Chinese Cuisine “ไทยเทอเรส อร่อยดี เกาลูน ส้มตำนัว” แชร์พื้นที่ครัวกลาง ผุดคีออสก์ ลุยดีลิเวอรี​เต็มสูบ เบรกผุดสาขาในศูนย์การค้า งัดกลยุทธ์การตลาดแบบนิวนอร์มัลสอดรับสถานการณ์ เดินหน้าขยายธุรกิจ เร่งการเติบโตในยุคโควิด-19 ดันรายได้กลุ่มนี้ 300 ล้านบาท

นายธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Thai & Chinese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี /CRG เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 และการประกาศมาตรการคุมเข้มพื้นที่สีแดงเข้มให้ธุรกิจร้านอาหารจำหน่ายสินค้าให้เฉพาะซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เร่งปรับตัวรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ขณะที่ภาพรวมตลาดร้านอาหารจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ระบุด้วยว่า มูลค่าตลาดรวมร้านอาหารในไทยปี 2564 นี้คาดว่าจะมีมูลค่า 410,000-415,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพียง 1.4-2.6% จากมูลค่าตลาดรวมในปีที่แล้ว (2563 ) 404,488 ล้านบาท ซึ่งตกลงไปถึง 6% จากปี 2562 ที่มีมูลค่าสูงถึง 430,762 ล้านบาท

นายธนพลกล่าวว่า ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ภาพรวมยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ที่มีผลให้สภาพแวดล้อมธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทั้งจากมาตรการการควบคุมการระบาดของภาครัฐ และกำลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งก็ได้รับผลจากการปรับตัวของการจ้างงานเช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วคาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท จะขยายตัวเพียง 1.4-2.6%


จากปัจจัยลบดังกล่าว ซีอาร์จีได้ปรับโครงสร้างการบริหารและปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
1. แผนการบริหารจัดการต้นทุน เช่น พัฒนาทักษะพนักงาน ( Multi-Function) รวมไปถึงการจัดหาพื้นที่ทำ Delivery และการเจรจาค่าเช่าที่เหมาะสม เนื่องจากต้นทุนหลักคือ อาหาร 40%, ค่าเช่าที่ 20%, ค่าพนักงาน 20% ที่เหลือเป็นค่าจีพีที่แบ่งให้กับอัลกริเกเตอร์และไรเดอร์ดีลิเวอรีต่างๆ และอื่นๆ

2. กลยุทธ์การตลาด รุกต่อเนื่อง โดยทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งเน้นหนักให้ขับเคลื่อนด้วยดาต้า (Data - Driven Everything) ซึ่งลูกค้าที่สั่งออนไลน์อาหารมีมากกว่า 90% ทั้งช่องทาง Google trend, Tiktok, Twitter เป็นต้น

3. เลือกใช้ผู้นำเทรนด์ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคคนรุ่นใหม่รับรู้จากสื่อออนไลน์ ดังนั้นการสื่อสารเมนูใหม่ๆ ผ่าน KOLs, Food Influencer มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

4. โปรโมชันส่งเสริมการขาย แบรนด์ TCC เน้นเรื่องความแตกต่าง โปรโมชัน ราคา และภาพลักษณ์ของสินค้า เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด


ทั้งนี้ Thai & Chinese Cuisine ครึ่งแรกปี 2564 ภาพรวมเติบโต 10% โดยตัวเลขรายได้ในปี 2653 อยู่ที่ประมาณ 270 ล้านบาท มาจากการพัฒนาโมเดลใหม่เพิ่มเติม อาทิ คีออสกฺ (Kiosk) รวมถึงการขยายสาขา ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมกลุ่มนี้ที่ 300 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 5% ของรายได้รวมทั้งกลุ่มซีอาร์จี

ในส่วนของพื้นที่ร้าน และทำเลที่ตั้งร้าน ทางกลุ่มก็ได้ปรับเพื่อให้เหมาะกับสัดส่วนการขายและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งในภาพรวมมีการแบ่งสัดส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งช่องทางการนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อกลับบ้าน (Dine In & Take away) และดีลิเวอรี (Delivery)

ในปี 2563 การนั่งรับประทานที่ร้านและซื้อกลับบ้านมีสัดส่วนที่ 70% ขณะที่ปี 2564 ปรับลดสัดส่วนลงมาที่ 60% ด้านช่องทางการขายดีลิเวอรี ในปี 2563 มีสัดส่วน 30% ส่วนในปี 2564 อยู่ที่ 40% โดยเฉพาะแบรนด์อร่อยดี เดิมมีสัดส่วนรายได้เท่ากัน แต่เมื่อเกิดโควิดและล็อกดาวน์ปัจจุบันดีลิเวอรีมีสัดส่วนถึง 80-90%


ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 67 สาขา ทุกสาขาตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น แบรนด์ไทยเทอเรส มีจำนวน 17 สาขา อร่อยดี 33 สาขา เกาลูน 10 สาขา ส้มตำนัว 7 สาขา นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ โตเกียว โบวล์ (Tokyo Bowl) ซึ่งเป็น Virtual Brand อีก 50 สาขา (ตั้งอยู่ในร้านอร่อยดี 30 กว่าสาขา และในร้านไทยเทอเรซอีก 10 กว่าสาขา)

“ปีนี้ไม่เปิดสาขาในศูนย์การค้าเพราะลงทุนสูงและเจอข้อจำกัดมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่อง เราปรับกลยุทธ์นำพื้นที่ในส่วนนั่งรับประทานในร้านที่ไม่ใช้ประโยชน์ เอาแบรนด์ในเครือเรามาเปิดครัวในพื้นที่ดังกล่าวที่อยู่นอกศูนย์การค้าหรือเปิดโมเดลคีออสก์ลงทุนต่ำ รายได้ดี เคลื่อนย้ายได้ตลอด เช่น ร้านคีออสก์เกาลูน เปิดในแม็คโครแล้ว 7 แห่ง จะขยายอีก 15 แห่งปีนี้ หรือคีออสก์เดียวมีหลายเมนูพันธมิตรบริการ เช่น เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ และเจ๊เกียงหมูทอด ข้าวเหนียวนุ่ม ในคีออสก์เดียวกัน ซึ่งมี 5 แห่งแล้ว จะเปิดอีก 20 แห่ง” นายธนพลกล่าว

จากนี้ดีลิเวอรีจะเติบโตอย่างมากเป็นเท่าตัว มาจากการปรับตัว และการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ เช่น Fantastic 4 การสั่งอาหารที่ทำได้ครบจบในแอปฯ เดียวแบบ 4 in 1 โดยสามารถเลือกชอปสุดยอด 50 เมนูฮอตจาก 4 ร้านดัง อร่อยดี, Tokyo Bowl รวมเมนูเด็ดข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่น, เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ และเจ๊เกียงหมูทอด ข้าวเหนียวนุ่มได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

นายธนพลกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มเมนู Take away และเน้นดีลิเวอรีมากขึ้น เพิ่มโลเกชันหาพื้นที่ Cloud Kitche ทำการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยดาต้า (Data - Driven Everything) ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยเฉพาะออนไลน์มากกว่า 90% เช่น Google trend, Tiktok, twitter เป็นต้น อีกอาวุธสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังมาจากแบรนด์ใหม่ล่าสุด “ส้มตำนัว” ที่จะเข้ามาเสริมทัพแบรนด์ในกลุ่มและขยายฐานลูกค้าให้หลากหลาย โดยเน้นดีลิเวอรีเป็นหลัก
















กำลังโหลดความคิดเห็น