xs
xsm
sm
md
lg

เน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” หน่วยคัดกรองและ รพ.สนามครบวงจร (End-To-End) โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร่วมเป็นพลังช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการลมหายใจเดียวกันของกลุ่ม ปตท. ล่าสุดจับมือกับภาครัฐและพันธมิตรทางการแพทย์จัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดทุกระดับความรุนแรงแบบครบวงจร ด้วยแนวคิด “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นธารน้ำใจจากคนไทยที่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ และโครงการหนึ่งซึ่งยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ก็คือ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ของกลุ่ม ปตท. ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ในทุกมิติ ด้วยความมุ่งหมายในการต่อลมหายใจของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวเดินต่อไปในท่ามกลางวิกฤต

ในด้านสาธารณสุข โครงการลมหายใจเดียวกันได้ร่วมเป็นพลังดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง รวมทั้งออกซิเจนเหลว และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกรุงเทพมหานครจัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สู้ภัยโควิด

ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นอกจากกลุ่ม ปตท.จะมีโครงการ Restart Thailand ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 25,000 อัตราแล้ว ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันยังได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้าน ทั้งการสนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัยโควิด-19 มอบอาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ มอบถุงยังชีพให้ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมทั้งรับซื้อสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากโครงการ ‘ชุมชนยิ้มได้’ เพื่อช่วยภาคเกษตรกร พร้อมส่งมอบให้แก่ประชาชนที่มาฉีดวัคซีนและบุคลากรทางการแพทย์เป็นการขอบคุณในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ร่วมกัน


โดยภาพรวม โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเป็นงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดโครงการลมหายใจเดียวกันได้จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามแบบครบวงจร (End-to-End)” ด้วยความมุ่งหวังที่จะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามแบบครบวงจร End-to-End” ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ คือ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท โดยมุ่งเน้นไปที่การ “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน

หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามแบบครบวงจร End-to-End มีอยู่ด้วยกัน 4 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 คือ “หน่วยคัดกรอง โครงการลมหายใจเดียวกัน” ตั้งอยู่ที่อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของบริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยจุดนี้ได้รับความร่วมมือจาก สปคม.ใช้เป็นจุดคัดกรองกลุ่มเสี่ยง มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit ซึ่งหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อก็จะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป และสำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ระดับสีเขียว ซึ่งสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) ก็จะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ที่ ปตท.จัดทำขึ้น ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ ฯลฯ และมีระบบติดตามอาการด้วย

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.


ส่วนจุดที่ 2, 3 และ 4 ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามครบวงจร รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ และรักษาผู้ป่วยโควิดทุกระดับความรุนแรง โดยโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวเปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายอยู่ตามโรงแรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 เตียง โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ จำนวน 300 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยระดับสีแดง ได้ปรับพื้นที่โล่งจำนวน 4 ไร่ของโรงพยาบาลปิยะเวท จัดสร้างโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามทั้ง 3 ระดับมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวทคอยให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


และในฐานะบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี กลุ่ม ปตท.ยังได้คิดค้นนวัตกรรม ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาสนับสนุนอย่างมากมาย เช่น หุ่นยนต์ “CARA” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอาหาร อุปกรณ์แก่ผู้ป่วย และ “Xterlizer UV Robot” หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น เตียงสนามพลาสติกที่สามารถรับน้ำหนักได้สูง บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งเดินทางดูแลผู้ป่วยและบุคลากร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test ซึ่งเป็นนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือของบริษัทกับ สวทช. นอกจากนั้นยังส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยการส่งมอบเครื่องดื่มจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน น้ำดื่มจิฟฟี่ และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด จัดพื้นที่อาคาร Enter เป็นจุดคัดกรองโควิด-19 บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด จัดการระบบดิจิทัลสำหรับการลงทะเบียน และบริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19 อีกด้วย

สุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับว่าการจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) นี้ขึ้นมาสามารถแบ่งเบาภาระของภาครัฐ เพิ่มศักยภาพให้ระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นไม่น้อย ซึ่งก็ตรงกับปณิธานของโครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ที่ร่วมเป็นพลังช่วยเหลือท่ามกลางวิกฤตอย่างต่อเนื่องด้วยความเชื่อว่า คนไทยทุกคนล้วนมีลมหายใจเดียวกัน และพร้อมอยู่เคียงข้างสังคมไทย ร่วมฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น