xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เปิด “หน่วยคัดกรอง-รพ.สนามครบวงจร” ช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรีเปิด ‘หน่วยคัดกรอง รพ.สนามครบวงจร (End-to-End)’ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันกลุ่ม ปตท. นับเป็นต้นแบบที่ภาคธุรกิจจับมือกับภาครัฐ โดยหวังให้ภาคธุรกิจเอกชนนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ “อรรถพล” ชี้ ปตท.จับมือกับ ก.สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมทั้ง รพ.ปิยะเวท เพื่อจัดตั้งหน่วยคัดกรอง รพ.สนามสีเขียว เหลือง แดง (ICU สนาม) มุ่งตรวจเร็ว แยกเร็ว และรักษาเร็ว เพิ่มขีดความสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ให้เพียงพอและทั่วถึง สร้างความอุ่นใจให้คนไทย

วันนี้ (11 สิงหาคม) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) กลุ่ม ปตท.” ร่วมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และผู้บริหารกลุ่ม ปตท. เชื่อมต่อระบบออนไลน์ ณ ห้องภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิด “หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) กลุ่ม ปตท.” ว่า ขอบคุณ ปตท.และบริษัทในเครือฯ ที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ในช่วงวิกฤตเห็นความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือภาครัฐ

แม้วันนี้จะเห็นสัญญาณที่ดีในบางวันที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายมีสัดส่วนใกล้เคียงผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ก็ยังไม่อาจไว้วางใจได้ ซึ่งการจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจรไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทุ่มเทและร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ซึ่งหวังว่า “หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) กลุ่ม ปตท.” จะเป็นแบบอย่างให้กับภาคธุรกิจเอกชนนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการผนึกกำลังของกลุ่ม ปตท.ครั้งนี้ว่า ปตท.และบริษัทในกลุ่มมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประชาชน และพร้อมแบ่งเบาภาระของภาครัฐ จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบครบวงจร หวังที่จะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด


นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังคงรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนมาก ปตท.และบริษัทในกลุ่มเล็งเห็นว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่ต้องร่วมช่วยเพิ่มศักยภาพให้ระบบสาธารณสุข เพื่อให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากขึ้น โดย “หน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” แห่งนี้ กลุ่ม ปตท.มีความตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” สร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่

จุดที่ 1 หน่วยคัดกรองโครงการลมหายใจเดียวกันอาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยร่วมมือกับ สปคม. มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน และตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อจะนำส่งตรวจ RT-PCR ต่อไป สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ระดับสีเขียว ที่สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) จะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ที่ ปตท.จัดทำขึ้น ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ ฯลฯ และมีระบบติดตามอาการด้วย


ขณะที่จุดที่ 2, 3 และ 4 จัดเตรียมเป็น โรงพยาบาลสนามครบวงจร โครงการลมหายใจเดียวกัน เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกระดับความรุนแรง ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลปิยะเวท อีกทั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจรแห่งนี้เป็นการระดมกำลังของกลุ่ม ปตท. ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเขียว” เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมในกรุงเทพฯ จำนวนกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ

“โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง” สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ จำนวน 300 เตียง และ “โรงพยาบาลสนาม” สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีแดง” จัดสร้างโรงพยาบาลสนามระดับวิกฤต ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ โดยปรับพื้นที่โล่งของโรงพยาบาลปิยะเวทเป็นสถานที่ก่อตั้ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง


นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ปตท.ยังได้คิดค้นนวัตกรรม ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มาสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอาหาร อุปกรณ์แก่ผู้ป่วย และ “Xterlizer UV Robot” หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เช่น หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น เตียงสนามพลาสติกที่สามารถรับน้ำหนักได้สูง ชุดป้องกันการติดเชื้อ อุปกรณ์พลาสติก เช่น ช้อนส้อม ถังขยะอันตราย กล่องอเนกประสงค์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งเดินทางดูแลผู้ป่วยและบุคลากร

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test ซึ่งเป็นนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือของบริษัทกับ สวทช. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเครื่องดื่มจากร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน น้ำดื่มจิฟฟี่ และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ รวมถึงบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด จัดพื้นที่อาคาร Enter เป็นจุดคัดกรองโควิด-19 บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด จัดการระบบดิจิทัลสำหรับการลงทะเบียน และบริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19 อีกด้วย

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง สนับสนุนออกซิเจนเหลว อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่หน่วยงานรัฐ โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วนกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่อง ทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตรา ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ได้ใช้งบประมาณแล้ว 1,700 ล้านบาทในการสนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น