xs
xsm
sm
md
lg

“Circular Meal...มื้อนี้เปลี่ยนโลก” ซีพีเอฟบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ร่วมดูแลเด็กและชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ฯลฯ “อาหาร” ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง การบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ กระจายไปทุกพื้นที่อย่างครอบคลุม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้แก่ทุกคน

“Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) หรือ SOS และบริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP นำอาหารส่วนเกินคุณภาพดีทั้งวัตถุดิบและอาหารแช่แข็งไปส่งมอบแก่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อปรุงเป็นมื้ออาหารสำหรับสมาชิกในชุมชน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เติมพลังกายและกำลังใจต่อสู้จนกว่าจะผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ยังมุ่งมั่นปลุกจิตสำนึกรักษ์โลกจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ที่ผ่านมาได้มอบอาหารไปแล้วกว่า 7,600 ชุดแก่มูลนิธิเด็ก ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 6 แห่ง มีสมาชิกกว่า 5,000 คน ประกอบด้วย ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ชุมชนคลองส้มป่อย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนมักกะสัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสวนรื่น ศูนย์สร้างโอกาสพระราม 8 และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เพื่อส่งต่อให้แก่ชุมชนดวงแข ตรอกสลักหิน รวมทั้งชุมชนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยอีก 7 ชุมชน ผ่านการปรุงอาหารจากครัวรักษ์อาหารของ SOS เช่น ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนคลองส้มป่อย ครัววัดแข ครัววัดโสม ครัววัดภาชี โดยมีเป้าหมายส่งมอบอาหารตลอดปี 2564 จำนวน 10,000 ชุด

นางชนัญธิดา วุฒิวารี หรือครูโบ ห้วหน้าครูอาสาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนมักกะสัน กล่าวว่า ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน จาก 605 ครัวเรือน เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูง ได้รับการตรวจจากชมรมแพทย์ชนบทไปแล้ว 2 รอบ อาหารจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อาหารที่ได้รับจากซีพีเอฟเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งมีรสชาติดีอยู่แล้วและรับประทานง่าย ทางศูนย์ฯ จะปรุงจากครัวกลางและพยายามจัดสรรอาหารให้แก่ทุกคนตามปริมาณที่ได้รับบริจาคอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้กักตัวเป็นอันดับแรก ด้วยการนำอาหารไปส่งมอบให้ตามบ้าน

“ชาวชุมชนดีใจมากที่ได้รับอาหาร ซึ่งครั้งนี้ซีพีเอฟให้เป็นไก่ป็อป สามารถรับประทานได้ทุกคน สำหรับบางคนอาหารแบบนี้คือเกินกำลังซื้อของเขา จึงเป็นโอกาสของพวกเขาที่ได้รับอาหารดีๆ ที่สำคัญ เราต้องมีส่วนช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการเก็บและล้างถุงใส่อาหารคืนให้เพื่อนำไปรีไซเคิลให้ถูกวิธีด้วย” ครูโบกล่าว

ด้านนางเกสรา คลื่นแก้ว หรือป้าหนิงของเด็กๆ ในชุมชนคลองส้มป่อย ซึ่งเป็นชุมชนอิสลามใจกลางกรุงเทพฯ กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดเพื่อให้คนในชุมชนอยู่รอด คือ อาหาร โดยเฉพาะวัตถุดิบ เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผัก เพื่อปรุงอาหารและแจกจ่ายให้คนในชุมชน 850 คนได้รับอาหารอย่างทั่วถึง เนื่องจากมีภารกิจสำคัญต้องดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอเข้ารับการรักษาและผู้กักตัวเอง ซึ่งมีจำนวนมาก การส่งอาหารให้คนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสนับสนุนการกักตัวโดยไม่ออกจากบ้าน ไก่คาราเกะ ที่ได้รับจากซีพีเอฟ ปรุงง่าย รสชาติดี รับประทานสะดวก ปรุงจากครัวกลางและแจกจ่ายได้อย่างทั่วถึง ถูกใจคนในชุมชนเพราะรับประทานง่าย

“ช่วงเวลาแบบนี้ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ การได้รับอาหารบริจาคในแต่ละมื้อ แม้มื้อเดียวก็ช่วยคนในชุมชนได้มาก เราไม่มีงบประมาณมากพอ จึงอยากได้วัตถุดิบและมาปรุงที่ครัวกลางของเราเพื่อแจกจ่ายกันอย่างทั่วถึง ซึ่งอาหารกล่องที่ได้รับบริจาคทุกวันนี้ครั้งละ 50-100 กล่องไม่เพียงพออยู่แล้ว เราก็ต้องจัดให้คนที่มีความจำเป็นมากที่สุด” ป้าหนิงกล่าว

นางสุนันทา สุนทรสมัย หรือพี่อุ้ย หัวหน้าครัวรักษ์อาหาร เครือข่ายบ้านมั่นคง เขตบางพลัด อีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับอาหารบริจาคจากซีพีเอฟ เล่าว่า อาหารบริจาคที่ SOS นำไปให้ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของชุมชนในการทำอาหารในแต่ละสัปดาห์ได้มาก ทำให้ชุมชนสามารถทำอาหารแจกคนในชุมชนได้หลายมื้อ ซึ่งแจกสัปดาห์ละ 4 วัน วันละ 2 มื้อ และอาหารกล่องอีกวันละ 300 กล่อง เนื่องจากช่วงนี้มีผู้กักตัวและผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น วัตถุดิบที่ได้รับมีหลากหลาย เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง นม ส่วนอาหารที่ชุมชนต้องการ คือ ข้าว เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ซึ่งจิตอาสาของชุมชนจะใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน

“หลายคนพูดกับพี่อุ้ยว่า ถ้าไม่ใช่คนในชุมชน ไม่รู้ว่าจะมีกินแบบนี้ไหม ซึ่งคนตกงานและขาดรายได้จะเพิ่มขึ้นอีกเยอะ วัตถุดิบที่ได้รับมาช่วยคนในชุมชนประหยัดค่าอาหารในแต่ละมื้อและนำเงินไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นกว่าได้” นางสุนันทากล่าว

นางสาวธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ SOS เล่าว่า อาหารที่ได้รับจากซีพีเอฟส่วนใหญ่เป็นอาหารแช่แข็ง ซึ่งมูลนิธิฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารตรวจสอบคุณภาพทุกครั้ง พร้อมแนะนำวิธีการเก็บรักษาและวิธีการปรุงอย่างถูกต้องและถูกหลักอนามัยให้แก่ชุมชน เพื่อส่งมอบมื้ออาหารปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่คนในชุมชน ในแต่ละครั้งที่ได้รับอาหาร มูลนิธิฯ จะวางแผนทันทีและจัดสรรวัตถุดิบอย่างเหมาะสมเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนคนในชุมชน หรือปรุงเป็นอาหารกล่องผ่าน “ครัวรักษ์อาหาร” ของมูลนิธิฯ หรือครัวกลางของชุมชน และนำไปแจกจ่ายอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากชุมชนช่วยทำความสะอาดและแยกบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปจัดการต่อไม่ให้เกิดเป็นขยะหรือสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

“โควิด-19 ทำให้คนจนเฉียบพลัน อาหารที่มูลนิธิฯ เคยส่งมอบให้ชุมชนหนึ่งสำหรับ 50 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 200-300 คน ทำให้อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยิ่งวิกฤตในปัจจุบันมีชุมชนติดต่อขอรับอาหารมากขึ้น อาหารที่ได้รับบริจาคเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าอาหารของพวกเขาได้มาก โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ส่งเสริมอาหารให้แก่ผู้ขาดแคลน” นางสาวธนาภรณ์กล่าว
















กำลังโหลดความคิดเห็น