xs
xsm
sm
md
lg

“ธนินท์” ชี้ไทยเสี่ยงถดถอย แนะ 4 กระตุ้น “ปากท้อง-ป้องกัน-รักษา-อนาคต” รัฐต้องเร็ว ยันซีพีไม่เกี่ยวสั่งซื้อซิโนแวค รัฐควรนำเข้าวัคซีนหลายยี่ห้อ ยิ่งฉีดเร็ว ยิ่งมีโอกาสฟื้นเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (แฟ้มภาพ)
วานนี้ (15 ส.ค.) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ในรายการสุทธิชัยไลฟ์ ในหัวข้อ “มุมมอง ธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย” โดยพิธีกรคือ นายสุทธิชัย หยุ่น เปิดประเด็นว่า ได้สัมภาษณ์บุคคลจากหลายภาคส่วน วันนี้จะเป็นการพูดคุยกับนายธนินท์ในบทบาทภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทย ที่นายธนินท์เน้นย้ำว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ก็ว่าได้ เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่หากประเทศใดปรับตัวได้ก็จะก้าวกระโดด แต่หากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอก็จะตกขบวน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และยังไม่แน่ใจว่าฟ้าจะกลับมาสว่างอีกครั้งเมื่อใด นายธนินท์ได้กล่าวถึง 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. ปากท้อง 2. ป้องกัน 3. รักษา 4. อนาคต

ประเด็นแรก คือเรื่อง “ปากท้อง” นายธนินท์กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนได้รับความลำบากมาก คนในต่างจังหวัดยังพอมีญาติ มีอาหารมาแบ่งปัน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยังพอประทังชีวิตได้ แต่คนมีรายได้น้อยในเมือง และคนที่มีภาระ เมื่อเจอเข้ากับวิกฤตที่ต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ จะทำให้ลำบากมาก แม้กระทั่งอาหารบางครั้งยังไม่เพียงพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมาดูแล แต่ในส่วนของภาคเอกชน เราทำได้เพียงช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเครือซีพีมีโครงการครัวปันอิ่ม แจกอาหาร 2 ล้านกล่อง ในเวลา 2 เดือน ร่วมกับ 100 พันธมิตรอาสาสมัคร ไปแจกให้แก่ชุมชน โดยอาหารจำนวน 1 ล้านกล่องจากจำนวนทั้งหมดจะสั่งซื้อจากร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว เป็นการช่วยเหลือจากปัญหาร้านถูกปิด เพื่อให้ร้านต่างๆ พออยู่ได้ และยังช่วยให้ชุมชนต่างๆ ที่ลำบากเข้าถึงอาหาร และหน้ากากอนามัยที่แจกในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ จะทำการคัดเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย และช่วยโปรโมตร้านอาหาร พร้อมใส่เบอร์โทร. หากใครสนใจก็สั่งซื้อจากร้านได้โดยตรงอีกด้วย

ประเด็นที่สอง คือ “ป้องกัน” นายธนินท์เน้นความสำคัญของวัคซีน ยิ่งฉีดได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไร ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น ตัวอย่างมีให้ดูหลายประเทศ เช่น อังกฤษ พอฉีดได้จำนวนมาก ก็กลับมาเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อเพิ่มแต่ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บหนัก จะทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งต้องตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100% ไปเลย โดยนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ

ในตอนหนี่งของการสัมภาษณ์ นายสุทธิชัย หยุ่น ได้ถามว่า นายธนินท์หรือซีพีมีส่วนในการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลหรือไม่ นายธนินท์ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะการผลิตวัคซีนทั้งหมดของซิโนแวคต้องส่งให้กับรัฐบาลจีน และต่อให้เอกชนอยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ พนักงานเครือซีพีในประเทศจีนยังไม่สามารถซื้อซิโนแวคมาฉีดให้พนักงานได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนทั้งหมด

นายธนินท์กล่าวเสริมที่มาของประเด็นซิโนแวคว่า ตอนที่บริษัทซิโนแวคตั้งต้นจะทำวิจัยวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีเงินไม่พอ ต้องการระดมทุนเพิ่ม หลานชายซึ่งรู้จักกับหมอและนักวิจัยด้านยาก็ได้รับเชิญชวนให้เข้าไปช่วยลงทุนในยามที่บริษัทนี้เงินไม่พอ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ซึ่งอยู่ในเครือฯ ของซิโนแวคก็ให้เป็นหุ้นบริษัทคืนแก่หลานชายในประเทศจีนมา 15% ในอัตราเท่ากับนักวิจัยที่มีหุ้นคนละ 15% ซึ่งในช่วงนั้นจริงๆ เป็นการช่วยเหลือนักวิจัยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ไปสั่งการอะไรไม่ได้ จะขอซื้อวัคซีนก็ทำไม่ได้แน่นอน ซึ่งในประเทศไทย ซีพียังต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมา 1 แสนโดสมาดูแลพนักงานของบริษัทเอง โดยซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะซื้อตรงก็ยังทำไม่ได้ เพราะวัคซีนถูกควบคุมทั้งหมด

นอกจากนี้ วัคซีนทุกยี่ห้อ หากผู้ผลิตกล้าฉีดให้คนประเทศของเขา ก็มั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยระดับสูง โดยนายธนินท์เองก็ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพราะคนอังกฤษฉีดกัน ยอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตก็ยังน้อย ดังนั้น ต้องนำเข้าวัคซีนหลายๆ ยี่ห้อเข้ามาฉีด ของทางอเมริกา ยุโรป ก็มีเทคโนโลยีที่ดี และประเทศเหล่านั้นได้ฉีดให้คนของเขาจำนวนมาก เราจะกลัวอะไร ยิ่งมีทางเลือกมาก ประชาชนก็มั่นใจ และฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น


ประเด็นที่สาม คือ “รักษา” โดยกล่าวถึงการรักษาที่ต้องเร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านเป็น Home Isolation มากขึ้น ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว หากคนไข้ได้ปรึกษาอาการกับหมอ มีหมอออนไลน์ จะมีกำลังใจ

นอกจากนี้นายธนินท์ได้ย้ำว่า เรื่องการเข้าถึงยามีความสำคัญอย่างมาก อย่ารอให้คนไข้มีอาการหนัก และควรกระจายยาอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ สำหรับเครือซีพี คงช่วยได้บ้างในเรื่องการปลูกฟ้าทะลายโจรในโครงการปันปลูก ฟ้าทะลายโจร แจกฟรี 30 ล้านเม็ด ในพื้นที่ 100 ไร่ ใน 100 วัน เราจะปลูกเพื่อแจกจ่ายฟรี เพราะตอนนี้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดมาก เป็นเพียงเข้าไปเสริมในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเดิมไม่กระทบ แต่เป็นการเติมซัปพลายเข้าไปลดความขาดแคลนเท่านั้น เป็นการแจกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแน่นอน การปลูกโดยควบคุมเป็นแบบปลอดสารพิษทั้งหมด และจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร ชาวบ้าน ซึ่งมีอิสระในการปลูก การขาย และขยายผล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้ การบริโภคฟ้าทะลายโจรต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของสาธารณสุข

ประเด็นที่ 4 คือ “อนาคต” นายธนินท์ชี้ประเด็นประเทศไทยเสี่ยงถดถอยหากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบันธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบ และหากต้องล้มหายตายจากไปหลังพ้นวิกฤต บริษัทที่จะจ่ายภาษีให้ประเทศได้จะมีจำนวนลดน้อยลง และเครื่องจักรเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก จะใช้เวลาฟื้นตัวช้า หากมีการปิดกิจการไปแล้ว ดังนั้น ต้องดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอด และปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน

วันนี้ประเทศไทยแข่งเรื่องแรงงานราคาถูกกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว เพราะเรายังต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไทยต้องขยับไปสู่ธุรกิจไฮเทค แต่ก็ตามมาเรื่องคน คนเราพร้อมหรือไม่ รัฐบาลพูดไป แต่ยังขับเคลื่อนได้ช้า เราต้องออกไปเชิญชวนการลงทุนมาเพื่อสร้างงานในประเทศไทย ดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปประเทศเพื่อนบ้าน ทุกบริษัทระดับโลกด้านไฮเทคล้วนเนื้อหอม ทุกประเทศอยากดึงบริษัทเหล่านี้ไปลงทุนในประเทศกันทั้งนั้น แล้วประเทศไทยจะมีมาตรการเชิงรุกอะไรในการไปดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามา ดึงคนเก่งทั่วโลกมาอยู่เมืองไทย มาใช้จ่ายที่ประเทศไทย มาจ่ายภาษีให้ประเทศไทย เหมือนเช่นอเมริกาดึงคนยุโรป จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไปอยู่อเมริกา หรือคนสิงคโปร์มีประชากรครึ่งหนึ่งเป็นคนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน เศรษฐกิจใหม่ก็จะเกิดขึ้น แต่ที่พูดมาทั้งหมดต้องทำควบคู่กันทั้งหมด ยามมืดสุด ต้องคิดว่าเมื่อสว่างแล้วประเทศจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น ทั้ง 4 ประเด็น ตั้งแต่ปากท้องที่ต้องดูแล ป้องกันโดยการหาวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด หากเอกชนจะช่วยนำเข้า รัฐควรรีบสนับสนุน วัคซีนยี่ห้อไหนดีต้องพยายามนำเข้ามาทั้งหมด การรักษาต้องรวดเร็ว ต้องเข้าถึงยา อย่าปล่อยให้หนัก และสุดท้ายคือ ต้องมองเรื่องอนาคตควบคู่ ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกันในยามวิกฤต จะใช้ขั้นตอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องรวดเร็วและมีคุณภาพ

นายธนินท์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้คือ ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว หากใครไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่หรือเล็ก ประเทศใดปรับตัวได้จะเป็นผู้นำใหม่ ประเทศที่เคยเป็นผู้นำ หากปรับตัวไม่ได้ก็จะกลายเป็นผู้ตาม และนี่แหละ คือสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ที่ทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น