การตลาด - “ทวิตเตอร์” กลายเป็นอาวุธใหม่สำคัญของการเปิดตัวสินค้าใหม่ ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก เปิดเผย 3 เทรนด์ความเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์ พร้อมบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 5 อันดับยอดนิยมบนทวิตเตอร์ ประเทศไทย อาหารสำเร็จรูปมาแรง
ทวิตเตอร์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้น #WhatsHappening และสิ่งที่ผู้คนกำลังพูดถึง ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของข่าวสารและข้อมูลล่าสุดที่มาจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ ในช่วงเวลานี้ที่ #StayAtHome และ #WorkFromHome กลายเป็นเรื่องปกติของใครหลายๆ คน ทำให้ไลฟ์สไตล์และรูปแบบของการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ของผู้บริโภคในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19
ทวิตเตอร์จึงได้วิจัยบทสนทนาที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคบนทวิตเตอร์ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้ถูกพูดถึง 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน
ผลการวิจัยยังพบว่าในประเทศไทยพบว่ามี 3 เทรนด์ที่สำคัญเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่
1.การเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ
ช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 อีคอมเมิร์ซเป็นเพียงเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง แต่ปัจจุบันนี้อีคอมเมิร์ซและการส่งของออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ตลาดนัดขายของแบบเดิมถูกดิสรัปต์ และทวิตเตอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้บริโภคจะเข้ามาค้นหาข้อมูลและสั่งซื้อสินค้าในปัจจุบัน
2. การล็อกดาวน์บางส่วนไม่ได้เป็นแค่แรงขับเคลื่อนเดียวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในประเทศไทย ถึงแม้ว่าการล็อกดาวน์บางส่วนและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคจะมีความเกี่ยวพันกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป จากการวิจัยของทวิตเตอร์พบว่าแม้จะอยู่ในช่วงที่มีการผ่อนปรนมาตรการการลงเพื่อให้ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการได้ แต่บทสนทนาบนทวิตเตอร์ยังคงพูดถึงเรื่องของการซื้อของที่สะดวกสบาย ซึ่งอีคอมเมิร์ซคือตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของผู้บริโภคไทยที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องในอนาคต
3. แม้ว่าโปรไฟล์กลุ่มเป้าหมายของสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ในบางเรื่อง
ผู้หญิงจะมีอิทธิพลในบทสนทนายอดนิยม 5 อันดับแรกทั้งหมดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เท่ากันทั้งหมดในทุกบทสนทนา แต่จากการวิจัยพบว่าผู้หญิงจะทวีตข้อความเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่าผู้ชาย
อีกทั้งยังพบว่านอกเหนือไปจากบทสนทนาที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 5 อันดับแรก กลุ่มเป้าหมายก็ยังมีความคล้ายคลึงกันในบทสนทนาหัวข้ออื่นๆ อย่างเช่นโปรไฟล์ของกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของ “ความสนใจอื่นๆ” โดย 2 อันดับแรกที่เหมือนกัน ได้แก่ ดนตรีและศิลปะ
ชานดาน ดีฟ หัวหน้าแผนก Emerging Business ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า “ไม่แปลกใจเลยที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนในปัจจุบัน รวมไปถึงผู้คนบนทวิตเตอร์ในประเทศไทย เราเห็นว่าเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคได้กลายมาเป็น
บทสนทนาที่สำคัญ และคนไทยอยากจะเป็นคนแรกที่ได้ซื้อ ลองใช้ และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าใหม่ชนิดนั้นอย่างไร แบรนด์เองก็รู้สึกตื่นเต้นที่กลุ่มเป้าหมายขยับใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้นและเลือกใช้ทวิตเตอร์ในการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพนับล้านคนบนทวิตเตอร์”
เจาะลึกถึงผลงานวิจัยล่าสุดของบทสนทนาเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 5 อันดับยอดนิยมบนทวิตเตอร์ ประเทศไทย ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป (Packaged Food)
บทสนทนาที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปบนทวิตเตอร์ประเทศไทยเกิดขึ้นทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และยังเป็นอันดับหนึ่งจากทั้ง 5 อันดับในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งมีการเติบโตขึ้นถึง 22% นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ.2563 ( 2020 )จนถึงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2554 (2021) ซึ่งมีแรงประสานร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างการเติบโตของบทสนทนาบน
ทวิตเตอร์และการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากคนไทยที่ใช้งานทวิตเตอร์ชอบพูดคุยกันในเรื่องของอาหารตั้งแต่สินค้า ผลิตภัณฑ์อาหาร ร้านอาหาร ไปจนถึงตัวเลือกในการช้อปปิ้งอาหารผ่านออนไลน์ อีกทั้ง นวัตกรรมสินค้ารสชาติใหม่ๆ ขนมรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น และการเปิดตัวสินค้าบนทวิตเตอร์ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเนื่องจากคนไทยบนทวิตเตอร์ต้องการเป็นคนแรกที่ได้ซื้อและได้ลอง
ในขณะที่ บทสนทนาเกี่ยวกับการทำอาหารและการทำขนมเป็นหัวข้อยอดนิยมมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด-19 แล้ว แต่ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2554 (2021 ) บทสนทนาบนทวิตเตอร์ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะความนิยมเกี่ยวกับขนมขบเคี้ยว ของกินเล่น ความชื่นชอบในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกที่เป็นอีคอมเมิร์ซ
2. เครื่องดื่ม (Beverages)
ช่วงโควิด-19 มีบทสนทนาเกี่ยวกับเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบทสนทนาเกี่ยวกับเครื่องดื่มมักมีความเชื่อมโยงกับอาหารและได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมาก จากการเปิดตัวสินค้าใหม่ และการดึงเหล่าเซเลบริตี้มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ อาทิ เป๊ก ผลิตโชค (@peckpalit) วงแบล็กพิงก์ (@BLACKPINK) และดาราไทยจากซีรีส์ F4 ซึ่งช่วยขับเคลื่อนบทสนทนาและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
เทรนด์ของบทสนทนาเกี่ยวกับเครื่องดื่มในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2564 (2021) จะเป็นพวกเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ช่วยในเรื่องของความงามและผิวพรรณ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจน
3. ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (Hair Care)
บทสนทนาที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศที่มีจำนวนมากที่สุดในช่วงที่มีการแพร่ระบาด คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมโดยมีวัฒนธรรมป็อบเป็นตัวหลักในการจุดกระแสของบทสนทนาหัวข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นสีผมหรือสไตล์ทรงผมล่าสุดของศิลปินดารา K-pop และไอดอลไทยที่ทำให้แฟนๆ เข้ามาพูดคุยและตอบรับกับกระแสอย่างต่อเนื่อง
บนทวิตเตอร์ บทสทนาที่กำลังมาแรงนี้มีวิวัฒนาการตั้งแต่การขายสินค้าและการรีวิวสินค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2563 (2020) มาจนถึงการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2564 (2021) เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นและมีการแชร์เคล็ดลับรวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ
เนื่องจากความอยากที่เป็นผู้นำเทรนด์ล่าสุด คนไทยบนทวิตเตอร์จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่อยากซื้อและทดลองใช้สินค้าหรือสไตล์ใหม่ๆ ล่าสุด นอกจากนี้ยังกระตือรือร้นที่จะแชร์คำแนะนำต่อให้กับคนอื่นๆ ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นตลาดในการขายสินค้าและเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ล่าสุดของเทรนด์ในการดูแลเส้นผมอีกด้วย
4. ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิว (Personal and Skin Care)
บทสนทนาที่เกี่ยวกับความงามบนทวิตเตอร์ประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมและแทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าบทสนทนาหัวข้อนี้ได้รับความนิยมมากสุดในกลุ่มผู้หญิง 62% แต่การทวีตข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชายมากถึง 38%
กลุ่มเป้าหมายชาวไทยบนทวิตเตอร์เปิดใจรับกับผลิตภัณฑ์ความงาม ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นสถานที่สำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการเปิดตัวสินค้าดูแลและบำรุงผิวตัวใหม่ล่าสุด และด้วยความอยากลองใช้สินค้าตัวใหม่ล่าสุด คนไทยบน
ทวิตเตอร์จึงรีบไปซื้อสินค้ามาลองใช้เพื่อแชร์ประสบการณ์ในการใช้งาน นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังชอบแนะนำและขายต่อ ทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมสำหรับผลิตภัณฑ์ความงามและแบรนด์ต่างๆ เพราะว่าคนไทยยังคงมองหาสินค้าที่จะมาใช้ในกิจวัตรการดูแลความงามของตัวเองอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด
บทสนทนาในหัวข้อนี้ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะแค่เรื่องความปรารถนาที่จะดูดีเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งบทสนทนาที่สำคัญเนื่องจากผู้คนหันมาใช้ทวิตเตอร์ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพผิว ตั้งแต่เรื่องสิว ไปจนถึงเรื่องของการมีผิวกระจ่างใสและขอคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องผิวพรรณ
5. ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน (Home Care)
การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงแรกผู้คนต่างมุ่งความสนใจไปในเรื่องการฆ่าเชื้อโรคในบ้านทำให้บทสนทนาที่เกี่ยวกับการดูแลบ้านเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ติดอยู่ใน 5 อันดับบทสนทนาที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค แม้ว่าบทสนทนาในหัวข้อนี้จะลดน้อยลงไปในระดับหนึ่ง แต่การดูแลบ้านยังคงเป็นหัวข้อบทสนทนาที่มีความสำคัญอยู่บนทวิตเตอร์ประเทศไทย
ชาวทวิตภพมักทวีตเกี่ยวกับการดูแลรักษาและการป้องกันบ้านที่อยู่ของพวกเขา และจากการสนทนาเกี่ยวกับการดูแลรักษาที่อยู่อาศัย มาจนถึงไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2564 ( 2021) เทรนด์การสนทนาได้เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของความงามและสุนทรียศาสตร์แทนเนื่องจากคนส่วนใหญ่หันมาโชว์บ้านหรือห้องของตัวเองที่ดูสะอาดสะอ้านสบายตาและการตกแต่งที่ดูดีมีสไตล์ทำให้บทสนทนาในหัวข้อนี้ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องบนทวิตเตอร์ประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงเทรนด์ของผู้บริโภคสร้างโอกาสใหม่ให้กับแบรนด์
การวิจัยของทวิตเตอร์แสดงให้เห็นว่าเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความชื่นชอบที่เกิดจากความพึงพอใจในทันทีผ่านการซื้อของออนไลน์และการช้อปปิ้งที่ร้านสะดวกซื้อทำให้เทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ
หากมองจากมุมมองของแบรนด์ ทวิตเตอร์ ถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งที่แบรนด์สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ โดยผู้ใช้งาน 71% ให้คะแนนในการโต้ตอบกับแบรนด์ว่า “ดี / ดีเยี่ยม” (มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ)
นอกจากนี้ทวิตเตอร์ยังเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการเปิดตัวสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ๆ โดยผู้ใช้งาน 77% ให้คะแนนในเรื่องของการที่ทวิตเตอร์แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกอยู่ในขณะนั้นว่า “ดีมาก / ดีที่สุด” (มากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ) ดังนั้นแบรนด์ที่ชาญฉลาดจะใช้ประโยชน์จากทวิตเตอร์ในการทำความเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นการเชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพผ่านการใช้เครื่องมือโฆษณาสร้างสรรค์ของทวิตเตอร์และใช้พลังของการสนทนาบนทวิตเตอร์ได้อีกด้วย