xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ หนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับใช้ FTA ขยายตลาดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลสัมมนาออนไลน์สร้างโอกาสธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับของไทย พบมีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นแม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 แนะปรับกลยุทธ์ สร้างเครือข่าย ใช้นวัตกรรมทำสินค้าให้โดดเด่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และควรใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาดกับประเทศที่ไทยมีความตกลงด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “โอกาสธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับไทยในตลาดโลก ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี” เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักปรับปรุงพันธุ์ในอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับของไทยทราบถึงสถานการณ์การค้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลก การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาปรับใช้ และการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาดคู่ค้าสำคัญของไทย

ทั้งนี้ ผลการสัมมนาพบว่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับถือเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ สามารถทำรายได้เข้าประเทศได้มาก และยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการอาจต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การหาตลาดใหม่ สร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ขายและผู้นำเข้าในต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การใช้นวัตกรรมปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้โดดเด่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีอายุยืนยาว ติดตามแนวโน้มของตลาดสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ และวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยส่งออกกล้วยไม้สัดส่วนถึงร้อยละ 98 ส่วนที่เหลือเป็นไม้ดอกชนิดอื่นๆ เช่น ปทุมมา สับปะรดสี และบัว เป็นต้น ตลาดไม้ดอกไม้ประดับที่น่าสนใจของไทย คือ เนเธอร์แลนด์ ประเทศศูนย์กลางการค้า การผลิตไม้ดอกที่สำคัญของโลก อิตาลี ประเทศที่มีการบริโภค การนำเข้าไม้ดอกมากที่สุดในโลก สหรัฐฯ เป็นตลาดนำเข้าไม้ดอกที่สำคัญที่สุดของไทยและโลก ญี่ปุ่น ตลาดนำเข้าไม้ดอกที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออก และเวียดนาม เป็นประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไม้ดอกที่สำคัญในอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะขยายส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับไปตลาดที่มีศักยภาพ พร้อมใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น

นายป่าน ปานขาว ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ซึ่งดูแลโดย พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่า เป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืช อนุรักษ์พันธุ์พืช และใช้ประโยชน์ของพันธุ์พืชอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับ 23 ชนิดได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แล้ว เช่น บัวแก้ว ดาวเรือง ลั่นทม กล้วยไม้สกุลแวนด้า เป็นต้น

นายภูเบศร์ เจษฎ์เมธี รองประธานสภาดอกไม้โลก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ น.ส.พรรณวิภา ศุภธนพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารดาดีไซส์ จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศทุกภูมิภาค เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เช่น แถบตะวันออกกลางนิยมไม้ใบจากไทยเพื่อใช้สำหรับตกแต่งเพิ่มความสดชื่นให้พื้นที่แห้งแล้ง ญี่ปุ่นนำเข้าไม้ดอกขนาดเล็กจากไทยจำนวนมาก เพื่อใช้ประดับตกแต่ง และมาเลเซียนิยมไม้ดอกที่มีอายุการใช้งานนาน และให้ความสำคัญต่อสีของดอกไม้ เนื่องจากมีชาวต่างชาติอาศัยจำนวนมากและมีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งมาเลเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนเพื่อกระจายสินค้าไม้ดอกไม้ประดับไทยเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากจีน และมาเลเซีย โดยไทยส่งออกไปตลาดโลกมูลค่า 132.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ และต้นกล้วยไม้






กำลังโหลดความคิดเห็น