xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ชำแหละประโยชน์ไทยใน RCEP จีนลดภาษีเพิ่มอีก 33 รายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละผลประโยชน์ไทยใน RCEP รอบนี้เจาะจีน พบยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยถึง 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด และยกเลิกภาษีสินค้า 33 รายการ เพิ่มเติมจาก ACFTA ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ แนะผู้ประกอบการใช้โอกาสส่งออกสินค้าเจาะตลาดจีนเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดจีนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับจีนอยู่แล้ว 1 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ว่า ภายใต้ความตกลง RCEP จีนจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ซึ่งจำนวนสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้คิดเป็น 67.9% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด ที่เหลือจะทยอยยกเลิก และยังมีสินค้า 33 รายการที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA โดยมีทั้งที่จะยกเลิกทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้และทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10-20 ปี

สำหรับสินค้าที่จีนยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก ACFTA ครอบคลุมสินค้าเกษตรศักยภาพของไทยหลายรายการ เช่น น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณสำหรับยานยนต์ ชุดสายไฟสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เครื่องยนต์ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ และเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และยังเปิดตลาดให้กับสินค้าอื่นๆ ของไทยเป็นการเพิ่มเติม ภายใต้ความตกลง RCEP เช่น พริกไทย น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง และแผ่นไวแสงและฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายรูป

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบ ACFTA จีนได้ยกเลิกภาษีให้ไทย 94.8% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยสัดส่วนการเปิดตลาดการค้าสินค้าสูงกว่ากรอบ FTA กับคู่ภาคีอื่นๆ ของอาเซียน ยกเว้นกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) จึงส่งผลให้จำนวนสินค้าที่จีนนำมายกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมให้ไทยใน RCEP มีไม่มากนัก ประมาณ 33 รายการ แต่ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสสะสมถิ่นกำเนิดในเครือข่ายการผลิตสินค้าใน RCEP ซึ่งสมาชิกทั้ง 15 ประเทศใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้มีความสอดคล้องและยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อเทียบกับเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดภายใต้กรอบ ACFTA

ขณะเดียวกัน ยังสามารถสะสมวัตถุดิบในการผลิตได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ทั้งในและนอกภูมิภาค RCEP และหากผู้ประกอบการมีกระบวนการผลิตที่ทำให้สินค้าผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้ เช่น การเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบจะส่งผลให้เปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 4 หลัก ซึ่งจะสามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภูมิภาค RCEP ได้ด้วย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีส่งออกไปยังตลาดจีนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น