xs
xsm
sm
md
lg

พิษล็อกดาวน์ฉุด ศก.ปี 64 ติดหล่ม Micro SME 2.7 ล้านรายโคม่า-แรงงานกลุ่มท่องเที่ยวยังไม่เห็นอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแตะระดับกว่า 20,000 ราย สะท้อนปัญหาการระบาดของปี 2564 ที่หนักหน่วงมากกว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ล่าสุดได้เห็นชอบขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วัน (เริ่ม 3-18 ส.ค.) พร้อมกับปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ขณะเดียวกันยังส่งสัญญาณล่วงหน้าว่ามาตรการนี้อาจยืดระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564 อีกด้วย

ผลพวงของการล็อกดาวน์ต่อเนื่องครั้งนี้ทำให้มีการประเมินความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ระดับ 4 แสนล้านบาท จนทำให้ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประชุมกันเมื่อ 4 ส.ค.ถึงกับยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยกว่าที่คิดไว้มาก จึงหั่นตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือเป็น -1.5-0% จากเดิม 0.0 % ถึง 1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 10-12% จากเดิมคาด 8-10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี แต่ต้องระวังการติดเชื้อในภาคแรงงานอาจกระทบกำลังผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสในต่างประเทศด้วย

หากพิจารณาถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยจากมุมมองภาคเอกชนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะถดถอยเป็นปีที่ 2 จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งสัญญาณนี้ทำให้ภาครัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลระบบสาธารณสุขที่จะป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อโดยการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องประคองผลกระทบให้แก่ประชาชนมีเงินหมุนเวียนในมือจากการที่ขาดรายได้ รวมถึงการดูแลภาคธุรกิจเอาไว้โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)

1-2 เดือน Micro SME 2.7 ล้านรายส่อล้มหากไม่เร่งช่วย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวแสดงความเห็นถึงอนาคตของเอสเอ็มอีว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) หรือ mSMEs ที่มีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านราย ซึ่งถือเป็นวิสาหกิจที่เป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะเลือดออก กล่าวคือไม่มีรายได้ และยังมีภาระหนี้สินจากผลกระทบของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ทำมาต่อเนื่อง ดังนั้นระยะเร่งด่วนจะต้อง “ห้ามเลือดก่อน” ซึ่งก็คือ การพักต้น พักดอก และไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างพักเพิ่มเติมที่ต้องกำหนดมาตรการไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 และให้ทุกธนาคารพาณิชย์ ธนาคารัฐ และ Non banks ดำเนินการมาตรการนี้

“ผมคิดว่าสิ่งนี้จะต้องรีบทำโดยด่วน เพราะถ้าไม่ทำอีก 1-2 เดือนจะหนักกว่าเดิมและเราอาจจะเห็นมหกรรมชำระหนี้กันไม่ไหวก็จะล้มทั้งยืน เพราะต้องเข้าใจว่าเวลาเกิดสงครามเราให้เขาไปต่อสู้โดยไม่สวมเสื้อเกราะที่สุดเขาก็ต้องตาย ก็เหมือนกับผู้ประกอบการ Micro SME ที่เขาก็สู้จนสุดตัวแล้ว และหากมองไปที่ขนาดกลาง หรือ Small SME ที่มีอยู่ 4 แสนราย ภาพก็เริ่มชัดถึงผลกระทบที่มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการพักต้น พักดอก ที่เสนอจะสามารถไม่ให้ปัญหาหนี้ไหลไปสู่การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)” นายแสงชัยกล่าวย้ำ

นอกจากนี้ รัฐควรพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5% ให้ลดลงมาคงที่ในอัตรา 4% โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้กับลูกหนี้เดิมแก่สถาบันการเงิน 1% เป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วน mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมากึ่งหนึ่งจนครบอายุสัญญา โดยภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดกับผู้ประกอบการ SME ในอัตราที่สูง ควรลดดอกเบี้ย 3% ให้กับ SME ทำให้ฐานดอกเบี้ยต้องไม่มากกว่า 5% ส่วนกลุ่ม SME เดิมที่ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 5% ให้คงไว้ตามเดิม และในส่วนระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ SME อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 31 ธันวาคม 2564

นายแสงชัยกล่าวว่า มาตรการสินเชื่อ Soft Loan สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ควรพิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงินมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้เนื่องจากงบการเงินของผู้ประกอบการ mSMEs อยู่ในระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสะท้อนความเป็นจริง ผู้ประกอบการ mSMEs มักจะใช้การหมุนเวียนเงินจากเงินสดในมือและเงินฝากธนาคารเป็นหลักในการดำเนินกิจการ การวิเคราะห์การให้สินเชื่อจึงควรวิเคราะห์จากกระแสเงินสด เป็นต้น

“มาตรการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของ 6 มาตรการที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่าย 24 องค์กรได้ทำหนังสือยื่นไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว เพราะเราไม่อาจนิ่งเฉยต่อสภาพปัญหาหนี้สิน การเลิกจ้างพนักงานที่ SME มีแรงงานในระบบประกันสังคมถึง 6 ล้านคน การปิดกิจการ การฟ้องร้องดำเนินคดี การถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดของผู้ประกอบการ mSMEs ได้” นายแสงชัยกล่าว
ล็อกดาวน์! ถึง ก.ย. ธุรกิจทิ้งไพ่ แรงงานระส่ำ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวแสดงความเห็นว่า หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้และต้องนำไปสู่การขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องไปจนถึง ก.ย. มีโอกาสที่จะเห็นธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะ SME ทิ้งไพ่ ซึ่งนั่นหมายถึงจะส่งผลกระทบภาวะการว่างงานของคนไทยที่เพิ่มขึ้นทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบประกันสังคม ซึ่งขณะนี้แรงงานภาพรวมของไทยก็ถือว่าอยู่ในสภาวะที่เปราะบางมากอยู่แล้ว

“หากพิจารณาตัวเลขคนว่างงานของไทยที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ หรือ BSI ระบุว่าการฟื้นตัวธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเดือน ก.ค.ภาพรวมลดลงและเริ่มมีสภาพคล่องที่ลดลง ธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ผมกังวลคือตัวเลขผู้เสมือนว่างงานหรือทำงานราว 4 ชั่วโมงต่อวันที่ขยับมาสู่ระดับ 2.8 ล้านคนซึ่งเกิดจากโรงงานปิดๆ เปิดๆ เพราะติดโควิดและล็อกดาวน์ รวมถึงการทำงานอยู่บ้าน WFH ที่มากขึ้นหากเทียบกับช่วงปกติไตรมาส 2 ปี 2562 มีเพียง 2 แสนคน ถือเป็นตัวเลขที่ต้องจับตาใกล้ชิดเพราะอาจนำไปสู่การว่างงานถาวรในที่สุด” นายธนิตกล่าว

แรงงานกลุ่มส่งออกไปต่อ-ท่องเที่ยวยังไม่เห็นอนาคต

ปัจจุบันการว่างงานและเสมือนว่างงานทั้งระบบมีมากกว่า 2.2-2.5 ล้านคน และหากพิจารณาในแต่ละภาคส่วนแล้วจะพบว่าการส่งออกของไทยภาพรวมปี 2564 ที่มีโอกาสเติบโตราว10- 15% และเป็นเพียงภาคเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือของไทยในปีนี้ ดังนั้น แรงงานในกลุ่มนี้จึงยังคงสภาพที่จ้างงานไว้ได้มากสุดและมีโอกาสในการขยายการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น อุปกรณ์การแพทย์ กลุ่มโรงพยาบาล เวชภัณฑ์ และภาคเกษตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ยางพาราที่ทำถุงมือแพทย์ แรงงานในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

สำหรับแรงงานในภาคส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหากพิจารณาแนวโน้มการท่องเที่ยวจนถึงสิ้นปีคงจะไม่ได้ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญทำให้แรงงานกลุ่มนี้ยังคงไม่เห็นอนาคต ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติอาจต้องใช้เวลาไปจนถึงปี 2566 ส่วนธุรกิจค้าปลีก ห้างร้านต่างๆ ยังรอความหวังจากมาตรการคลายล็อกดาวน์เป็นสำคัญในการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่หากในระยะ 1-2 เดือนการล็อกดาวน์ยังดำเนินไปเรื่อยๆ กลุ่มนี้ก็จะประสบภาวะลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

“แรงงานในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการคิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานภาคเอกชนซึ่งยังคงฟื้นตัวได้ช้ามาก และธุรกิจรายย่อย เช่น ร้านทำผม ร้านรับซักรีด ร้านอาหาร ฯลฯ ที่เป็นเอสเอ็มอียิ่งนานวันเขาก็ยิ่งลำบากเพราะรายได้ไม่มีแต่ต้องประคองการรักษาลูกจ้างไว้ และที่สุดจะไม่จ่ายเงินเดือนพนักงานและเลยจุดที่จะมาว่ากันด้วยกฎหมายแรงงานด้วย โดยการล็อกดาวน์และพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม 29 จังหวัดคิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจไทยเกิน 80% หากขยายล็อกดาวน์อีกผมว่าเขาเหล่านี้ก็คงอึดต่อไม่ไหว” นายธนิตกล่าว

นายธนิตกล่าวว่า มาตรการดูแลภาคแรงงานที่ออกมาหลายส่วนถือว่ารัฐก็ดำเนินการได้ดีแต่ก็มีบางอย่างที่จำเป็นต้องปรับปรุง โดยเฉพาะในส่วนของโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ซึ่งรูปแบบเดิมที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายครึ่งหนึ่ง และภาครัฐอุดหนุนเงินเดือนครึ่งหนึ่งตามวุฒิการศึกษา ที่ต้องยอมรับว่าในสถานการณ์ขณะนี้นายจ้างเองก็ต้องรัดเข็มขัด แค่รักษาสภาพการจ้างงานไว้ไม่ปลดก็ยากอยู่แล้ว จึงเห็นว่าควรจะปรับมาสู่การนำเด็กจบใหม่มาเป็นการฝึกงาน โดยให้ทำงานวันละ 4 ชั่วโมงโดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้น่าจะทำให้โอกาสในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริง

“มาตรการดูแลปัญหาเศรษฐกิจบางอย่างต้องปรับปรุงให้สอดรับกับข้อเท็จจริงและใช้เงินให้คุ้มค่าสุดกรณีการจ่ายเยียวยาแรงงาน บางคนไม่ควรอยู่ในฐานะที่ควรจะได้รับเงินเพราะไม่เดือดร้อน ควรหามาตรการที่ลงไปช่วยคนกลุ่มเปราะบางจริงๆ เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 แนวโน้มจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปีตามจำนวนวัคซีนที่ฉีด เรายังต้องใช้เงินอีกมากในการดูแลเศรษฐกิจ และส่วนตัวผมมองว่าเศรษฐกิจปี 2565 คือปีเผาจริงไม่ใช่ปีนี้ ดังนั้นเชื่อว่าคนไทยที่ยังมีเงิน มีรายได้จะรัดเข็มขัดมากขึ้นและตุนเงินสดไว้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งแรงซื้อจะถดถอยหนัก นี่คือความเสี่ยงที่จะตามมาอีกระลอก” นายธนิตกล่าว


เสียงสะท้อนของปัญหาและแนวทางแก้ไขนี้อาจจะไม่ใช่ระดับ 40 CEO แต่เป็นเสียงจากคนตัวเล็กและเป็นคนที่คลุกคลีกับเศรษฐกิจที่เป็นระดับปฏิบัติที่มองภาพรวมได้อย่างถ่องแท้...ภาครัฐจึงไม่ควรจะมองข้าม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนสำคัญในการชี้วัดอนาคตเศรษฐกิจไทย เพราะโควิด-19 วันนี้คือหลุมลึกที่กำลังทำให้เศรษฐกิจไทยติดหล่มแล้ว การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องบูรณาการอย่างรอบด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น