สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยผนึก24ภาคีเครือข่ายเสนอ 6มาตรการให้ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนหนุนเอสเอ็มอีอยู่รอดหลังแผชิญการล็อกดาวน์ล่าสุดซ้ำเติมอีกระลอก จี้พักต้น พักดอก ตลอด 6 เดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ย ลดอัตราเงินกู้ ยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร ฯลฯ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่าย 24องค์กรได้ประชุมร่วมกัน และมีมติแถลงการณ์เสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาจากผบกระทบการล็อกดาวน์ 13จังหวัดที่ทำให้กิจกรรมต่างๆต้องหยุดลงซึ่งส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)จำนวนมากมีรายได้ที่ลดลงโดยได้สรุปแนวทางการช่วยเหลือ 6 มาตรการ
ประกอบด้วย 1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ mSMEs เดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสียหรือ NPLs เพราะการแพร่ระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ ส่งผลต่อผู้ประกอบการ mSMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แบ่งเป็น 2.1 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5 % ให้ลดลงมาคงที่ในอัตรา 4% โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้กับลูกหนี้เดิมแก่สถาบันการเงิน 1% โดยขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการ mSMEs ไม่เกินอัตรา 4% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และ2.2 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมากึ่งหนึ่ง จนครบอายุสัญญา
3.มาตรการสินเชื่อ Soft Loan สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากำหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นำงบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้เนื่องจากงบการเงินของผู้ประกอบการ mSMEs อยู่ในระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสะท้อนความเป็นจริง
4. ยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการ mSME อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงขอเสนอให้สถาบันการเงินไม่นำข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ mSMEs เป็นระยะเวลา 2 ปี
5. มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ในปัจจุบันได้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. …. ขอให้ผลักดันกองทุนนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และขอเสนอให้มีคณะกรรมการบริหารที่ต้องให้สัดส่วนของภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ กองทุน นี้เป็นการเปิดโอกาสให้ mSMEs สามารถสร้างแต้มต่อให้ mSMEs มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ แข่งขันได้มากขึ้น และทำให้ mSMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษีเพิ่มขึ้น
6. กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 มีสินเชื่อทั้งหมด 17,376,812 ล้านบาท และไตรมาส 1 ปี 2564 หากประเมินสถานการณ์กลุ่มสินเชื่อที่มีแนวโน้ม NPLs (ไฟเหลือง) จะพบว่ามีถึง 432,563 ล้านบาท หรือ 13.14% ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโควิด 19 ถึง 258,519 ล้านบาท (ไตรมาส 4 ปี 2562 ธปท.) กองทุนนี้จะช่วยให้ mSMEs ที่เป็น NPLs จากผลกระทบโควิด 19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ