xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เร่งมาตรการกระจายสภาพคล่อง เชื่อตอบโจทย์แก้โควิด-19 ได้ดีกว่าลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท.เร่งรัดมาตรการการเงินและสินเขื่อ กระจายสภาพคล่องให้ผู้รับผลกระทบเร็วที่สุด เพราะตอบโจทย์แก้ไขปัญหาช่วงนี้ได้ดีกว่าลดดอกเบี้ย พร้อมปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น หลังพบภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ก.ค ลดลงทุกภาคธุรกิจ สภาพคล่องธุรกิจท่องเที่ยว ก่อสร้างเหลือไม่เกิน 3 เดือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และ (2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนกรกฎาคม 2564 ดังนี้


(1) ผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนกรกฎาคม 2564 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงจากเดือนก่อนในทุกภาคธุรกิจ ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศในวงกว้าง และผลของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน สำหรับการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคท่องเที่ยวและภาคก่อสร้างที่ปรับลดลง โดยธุรกิจในภาพรวมมีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน และลดชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่บางส่วนเริ่มกลับมาใช้นโยบายลดเงินเดือนเพิ่มเติม

ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่เริ่มเห็นบางธุรกิจมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่มีสัดส่วนของธุรกิจที่สภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น


ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าประชาชนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและท่องเที่ยวตามปกติได้เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 50 รายต่อวัน และเกิดได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565


(2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงมากทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด และแผนการกระจายวัคซีนไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นอยู่ต่ำกว่าเดือนเมษายน 2563 ที่มีการประกาศ Lockdown ครั้งแรกในทุกมิติ

ผู้ประกอบการ 90% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดลงมากจากเดือนก่อน และไม่เห็นพฤติกรรมเร่งกักตุน แม้จะมีการสั่งปิดห้าง และประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวสู่ระดับปกติเลื่อนออกไปเป็นปี 2566 ล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้อีก 1 ปี

ภายใต้สถานการณ์ที่การระบาดรุนแรงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีกระสุนเหลือน้อย ธปท. จึงได้ศึกษาเครื่องมือการเงินอื่นๆ ไว้ โดยการทำ QE อาจไม่ตอบโจทย์ของไทย เพราะ (1) โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ (2) ไทยเป็น bank-based economy ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% การทำ QE จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด (3) ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

มาตรการที่ตอบโจทย์ตอนนี้ คือ มาตรการการเงินและสินเชื่อซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว ทั้งนี้ มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น