การตลาด - โควิด-19พ่นพิษหนักหน่วง ระลอกใหม่ ภาคธุรกิจชี้ใกล้ตกเหวแล้ว ธุรกิจย่ำแย่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย- สมาคมศูนย์การค้าไทย วงการท่องเที่ยวโดยมาคาเลียส เดินหน้าจี้ “บิ๊กตู่” พร้อมยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขให้รัฐบาลเร่งแก้ไขด่วน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต ทำให้รัฐบาลต้องยกระดับมาตรการป้องกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทำให้บรรดาภาคธุรกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นสมาคมและองค์กรต่างๆรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่างๆไปยังภาครัฐบาลให้เร่งรีบดำเนินการ เนื่องจากผลกระทบที่หนักหน่วงจากสถานการณ์โควิด- 19
*** ค้าปลีก ขอฟื้นช้อปดีมีคืน-ขอสิทธิ์พิเศษBOI
ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องขอเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับ SME ในภาคค้าปลีกและบริการอย่างเร่งด่วน
ในขณะนี้ มี SME ในระบบกว่า 200,000 ราย ที่กำลังจะต้องปิดตัวลง และมีลูกจ้าง 1,000,000 - 1,500,000 ราย ที่จะต้องขาดรายได้และไม่มีงานทำ ทั้งยังส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินอย่างหนัก เพราะจะก่อให้เกิดหนี้เสียหลายแสนล้านบาท
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ในขณะที่การฉีดและกระจายวัคซีนยังไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลควรเร่งเยียวยากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยสมาคมฯ ขอนำเสนอ 4 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการสาธารณสุข
1.1 เร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยใช้พื้นที่จุดฉีดวัคซีนที่ภาคค้าปลีกและบริการได้เตรียมไว้ทั้งหมด 93 จุด แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 25 จุดและในต่างจังหวัดอีก 68 จุด ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเพิ่มบริการตรวจ Rapid Antigen Test ให้กับประชาชน
1.2 จัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรในภาคค้าปลีกและบริการ โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มการค้าปลีกและบริการ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้า
2. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME และประชาชน
2.1 เร่งสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้ Soft Loan ให้ SME เร็วขึ้น เพราะในช่วง 30 วันที่ผ่านมา มี SME ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 หมื่นราย
2.2 สำหรับ SME ที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงินในปัจจุบัน ขอให้พักชำระหนี้และ หยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
2.3 ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพิ่มเป็น 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
2.4 ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการจ้างงานเพิ่ม ขอผ่อนผันให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และลดอัตราการว่างงาน
2.5 เพื่อเป็นการเพิ่มให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ขอให้ปรับเพิ่มรายได้พึงประเมินบุคคลธรรมดาขั้นต่ำที่จะเสียภาษีจาก 150,001 บาท เป็น 250,001 บาท ในปี 2564-2565
2.6 ผ่อนผันให้ร้านอาหารในศูนย์การค้าสามารถให้บริการจัดส่งหรือดีลิเวอรี่ ( Delivery ) ได้ เพื่อช่วยเหลือ SME ให้สามารถพยุงธุรกิจได้ และลูกจ้างยังมีงานทำต่อไป
3. มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3.1 นำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาอีกครั้ง โดยเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง
3.2 ขอให้ภาคเอกชนไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลและ BOI เช่นเดียวกับการที่ นักลงทุนต่างชาติได้รับ เนื่องจากภาคเอกชนที่มีธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความแข็งแรง สามารถลงทุนเพิ่ม แต่อาจขาดความมั่นใจและแรงกระตุ้น พร้อมยังช่วยทำให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง
4. มาตรการรองรับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)
4.1 กำหนดนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อควบคุมบางธุรกิจ ห้ามนักลงทุนต่างชาติทำโดยเด็ดขาด และบางธุรกิจสามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไข เพื่อปกป้องอาชีพและธุรกิจของคนไทย โดยไม่ทำลายอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยในที่สุด
4.2 ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม จัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตั้งแต่บาทแรก และห้ามขายต่ำกว่าราคาต้นทุน
4.3 เร่งผลักดันการทำ Digitalization ของหน่วยงานภาครัฐสำหรับใบอนุญาตต่างๆ ให้เป็นแบบ E-Form, E-License, E-TAX และ E-Invoice และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 1 ใบ (Super License) จากเดิมที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือค้าส่งต้องขอใบอนุญาตต่างๆ กว่า 43 ใบ
4.4 ปรับรูปแบบการบริการของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน เป็นแบบ Cashless Payment (การทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อช่วยลดกระดาษ ลดเอกสาร ลดขั้นตอน ลดเวลา และสามารถตรวจสอบเอกสารย้อนหลังได้จากระบบ
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสงครามเชื้อโรคที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปให้ได้ โดยสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง” นายญนน์ กล่าว
*** ศูนย์การค้า จี้ให้งดค่าเช่าที่ดินจากรัฐ
ขณะที่อีกทางหนึ่งคือ สมาคมศูนย์การค้าไทย ที่มีบทบาทและมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องไม่แพ้กันคือ “สมาคมศูนย์การค้าไทย” ที่เสนอภาครัฐให้มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ทั้งรักษาอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระยะยาว เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA นำเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีก ในโอกาสประชุม conference call กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาครัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเสนอภาครัฐให้มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ทั้งรักษาอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระยะยาว เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นช่วยลดผลกระทบที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจศูนย์การค้าและค้าปลีกยังคงพร้อมเดินหน้าให้การสนับสนุนภาครัฐและด้านสาธารณสุข ดูแลศูนย์การค้าให้สะอาด ปลอดภัยอย่างเต็มที่
นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาคธุรกิจศูนย์การค้าโดยสมาคมศูนย์การค้าไทย ขอขอบพระคุณ ฯพณฯ และภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้โอกาสเสนอแผนงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ สมาคมฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งที่เป็นคู่ค้าผู้เช่า และผู้ประกอบการอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกฝ่ายรอดพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยนับรวมแล้วได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท”
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ผู้ประกอบการขาดรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐอย่างเคร่งครัด ในการนี้ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจศูนย์การค้า เพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติโดยเร่งด่วน ดังนี้
1. สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจศูนย์การค้าได้ช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจอื่นๆ เช่น ช่วยพยุงการจ้างงานโดยสามารถนำรายจ่ายเงินเดือน พนักงาน มาหักภาษีได้ 2 เท่า สามารถนำส่วนลดค่าเช่าผู้ประกอบการ มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
2. กระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุนในทรัพย์สิน อาคารถาวร เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการรซ่อมบำรุง เพื่อให้ทรัพย์สินมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี สามารถลงเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 2 เท่า (ดังเช่นปีที่แล้ว)
3. เยียวยาแก่ภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโคยคำสั่ง ศบค. หากธุรกิจสามารถบริหารจัดการให้พนักงานได้รับวัคซีนครบ 70% แล้ว ขอให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถประกอบการได้ตามปกติ
4. ช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ขยายเวลาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี ลดค่าไฟฟ้า 50% ยกเว้นภาษีป้าย และค่าเช่าที่ดินที่เช่าจากภาครัฐ”
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจศูนย์การค้าต้องการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านค้าในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยมีความเข้าใจถึงความจำเป็นรอบด้าน จึงขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดแผนการเปิด-ปิดธุรกิจในสถานการณ์แต่ละเฟสให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจต่างๆ เตรียมความพร้อม ลดผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงกระทันหัน โดยแบ่งระดับความรุนแรงของการระบาด มี Indicator ที่ชัดเจน เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เปอร์เซ็นต์ประชาชนได้รับวัคซีนครบโดส ความสามารถในการรองรับของโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ และด้วย Indicators เหล่านี้ สามารถกำหนดได้ว่าสถานการณ์ในเฟสไหนจะมีธุรกิจอะไรเปิดให้บริการได้บ้าง หรือเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง แบ่งพื้นที่ปลอดภัยให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีกำลังใจ สามารถเตรียมการ และวางแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน), บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด สำนักงานใหญ่, บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ เคอี กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พิริยา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด
*** ท่องเที่ยว จี้ขอ “พักชำระหนี้-ขอซอฟท์โลนด่วน”
สำหรับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่่ยว ก็เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด เพราะการปิดประเทศ ก็มีการนำเสนอภาครัฐเพื่อหาทางแก้ไขเช่นกัน
นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ถือเป็นวิกฤตหนักสุดของประเทศไทย ที่มียอดผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่าวันละหมื่นคน ส่งผลกระทบต่อประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าทุกครั้ง โรงแรมปิดกิจการชั่วคราวกว่า 20% ร้านค้าร้านอาหาร ปิดตัวลงไปกว่า 50,000 ร้าน
รวมถึงล่าสุด สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้มีการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มอียูได้ โดยประเทศไทย ถูกถอดจากบัญชี เนื่องจากมียอดผู้ติดเชื้อสูงเกินเกณฑ์ ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างนี้ต่อไป จะส่งผลเสียอย่างรุ่นแรงตามมาในอนาคตและยากจะฟื้นตัวให้กลับมาได้โดยเร็ว
ดังนั้น ภาครัฐบาล ควรต้องเร่งดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้ทันไตรมาสที่ 4 ของปี2564นี้ ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่สำคัญ ถ้าหากช้ากว่านี้ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะมีการสูญเสียเพิ่มขึ้น และจะส่งผลเสียเป็นโดมินิโนเอฟเฟค
โดยแนวทางหลักที่ภาครัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ “มาตรการพักชำระหนี้หรือการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” พัฒนาโครงการสินเชื่อที่มีอยู่เดิมด้วยการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ ตั้งเงื่อนไขให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเอื้อต่อผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยง่าย ทันต่อการนำมาแก้ปัญหา รวมไปถึงมาตรการอื่นๆ อาทิ มาตรการชดเชยรายได้กลุ่มแรงงานด้านบริการ มาตรการลดหย่อนค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยลดปัญหาด้านการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ของผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม
นอกจากนี้จำเป็นต้องเร่ง “จัดหาวัคซีน” ให้เพียงพอ รวดเร็ว และเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรประเทศไทย รวมถึงบุคลากรในธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาดและการเสียชีวิต อีกทั้งยังจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อของแรงงานที่เป็นผลพลอยได้ตามมา
นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “หากทางภาครัฐบาล ได้เข้ามาช่วยเหลือ และเร่งดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ได้โดยเร็ว บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยลดการสูญเสีย ลดการปิดตัว ของธุรกิจการท่องเที่ยว และจะสามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลับมาได้โดยเร็ว อีกทั้งยังจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาเริ่มคึกคักได้อีกครั้ง”