xs
xsm
sm
md
lg

Thai Water Plan ปฏิวัติการจัดการน้ำของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงแม้รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับนโยบายทรัพยากรน้ำของประเทศ (Regulator) เพียงหนึ่งเดียว แต่การบูรณาการการทำงานกับ 48 หน่วยงานด้านน้ำที่กระจายอยู่ในหลายกระทรวงในฐานะหน่วยปฏิบัติ (Operators) นั้นไม่ง่ายเลย ​ปะเหมาะเคราะห์ร้ายก็เป็นเสือกระดาษเอาได้เหมือนกัน

​แต่ครั้นเมื่อ สทนช.สามารถผนึกกำลังกับ Regulators อื่นได้ เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น จึงทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองแผนงานโครงการและงบประมาณไปด้วย ท่ามกลางความตกตะลึงอยู่ไม่น้อย

​น่าจะเพียงพอในแง่การคัดกรอง แต่ยังไม่ดีพอ ไม่รวดเร็วพอ เพราะถ้าใช้มือคนอย่างเดียวก็เจอปัญหาความล่าช้า ไม่ทันการณ์ บวกกับเวลาที่จำกัด จึงเป็นที่มาของแนวความคิดนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มีลูกเล่นมากกว่าเดิม ฉลาดกว่าเดิม และที่สำคัญซื่อสัตย์

ลองนึกถึงหุ่นยนต์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการนำมาช่วยทำงานสำคัญต่างๆ ที่มนุษย์มีข้อจำกัด ทำได้ช้า ขาดรายละเอียดและความแม่นยำเท่า

แอปพลิเคชัน Thai Water Plan (TWP) ก็เป็นทำนองนั้น ที่ออกแบบมาเพื่อ​ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ ลดภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา การเข้าถึงโครงการจะเป็นไปตามกติกาที่กำหนด ลดการโมเมพื้นที่โครงการผิดไปจากความเป็นจริงด้วยพิกัดแผนที่ ติดตามความก้าวหน้า และการเบิกจ่ายโครงการได้

เรียกว่า เอาข้อมูลทุกอย่างแบลงในระบบฐานข้อมูล ในรูปแผนที่ ตาราง การประมวลผล ชนิดปกปิดไม่ได้ เป็นความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ทั้งย้อนหลังจนปัจจุบัน และมองเห็นถึงอนาคต

​กลุ่มที่ต้องนำเข้าข้อมูล แผนงานโครงการ และงบประมาณ เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของ TWP ได้แก่ หน่วยงานน้ำ 48 หน่วยงานโดยตรง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล (ทบ.) ที่จะเข้ามาสมทบในอนาคต

​ระบบที่ออกแบบไว้จะโปรแกรมให้ยอมรับเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อมูลสำหรับการลงทะเบียน ไม่ต่างจากการลงทะเบียนวัคซีนของแอปฯ หมอพร้อม ถ้าใส่ข้อมูลผิด ไม่ครบถ้วน เท่ากับลงทะเบียนไม่ได้ นัดหมายฉีดวัคซีนไม่ได้เช่นกัน แผนงานโครงการด้านน้ำจะมีความละเอียดมากกว่าแอปฯ หมอพร้อม โดย สทนช.ดำเนินการจัดอบรมและจัดทำคู่มือให้หน่วยงานเหล่านี้ใช้อยู่แล้วในขณะนี้

ในฐานะผู้กำกับ (Regulator) สทนช.อาศัยชุดข้อมูลเหล่านี้ทำการวิเคราะห์ ประมวลผล ทำให้เห็นภาพชัดในทุกพื้นที่ จะรู้ว่ามีกี่หน่วยงานเข้าไปดำเนินการ ใครเป็นเจ้าภาพ ลักษณะรายละเอียดโครงการ แผนงาน งบประมาณ ทับซ้อนกันไหม และ ฯลฯ ซึ่งจะง่ายต่อการตัดสินใจคัดกรอง จัดเรียงลำดับความสำคัญ

“เป็นประตูแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ทั้งนี้ แอปฯ TWP ในขณะนี้มีฐานข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2564 และงบประมาณ 2565 เท่ากับรู้ภาพแผนงานโครงการและงบประมาณในอดีตจนถึงปัจจุบัน (2563-3564) และอนาคต (2565)

​“ยิ่งมีการนำเข้าข้อมูลล่วงหน้า เราสามารถพิจารณาได้เร็วขึ้น และจะส่งต่อถึงสำนักงบประมาณได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอรายงาน”

นอกจากหน่วยงานน้ำจะเป็นผู้เสนอแผนงานโครงการแล้ว สทนช.ยังสามารถระบุให้หน่วยงานใดจัดทำแผนงานโครงการด้วยก็ได้ หากพบว่ามีความจำเป็นและไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ ต่อไป เมื่อ อปท.นำเข้าข้อมูล จะมีการระบุแหล่งน้ำ เจ้าภาพ พิกัด องค์กรผู้ใช้น้ำ ความต้องการใช้น้ำ จะทำให้ TWP มีความสมบูรณ์ในเชิงพื้นที่ยิ่งขึ้น

“อย่างแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่า 1.4 แสนแห่ง เราเองไม่รู้ทั้งหมด อยู่ตรงไหน พิกัดอะไร มีความจุเท่าไหร่ ใครใช้น้ำ ใครเป็นเจ้าภาพ ถ้าดึงเอาข้อมูลเหล่านี้เข้ามาได้จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ยิ่งขึ้น และพ่วงทะเบียนแหล่งน้ำ นอกเหนือจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีสมบูรณ์อยู่แล้ว” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

สำหรับประชาชนทั่วไป สทนช.เปิดให้ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง เพื่อติดตามสถานภาพของโครงการ เปิดให้มีส่วนร่วมรับรู้อีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตลอดจนองค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่นั้นๆ โดยตรงอยู่แล้ว

การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงฟื้นฟูต้นน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป

TWP คล้ายคัมภีร์ให้ผู้คน หน่วยงาน เข้าถึงข้อมูลเรื่องน้ำ มีความโปร่งใส ไม่อาจลับๆ ล่อๆ ปิดกั้นแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว

ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล ติดตาม และตรวจสอบ

แผนงานโครงการน้ำและงบประมาณไม่เป็นความลับอีกต่อไป

เป็นผลงานชิ้นโบแดงของ สทนช.


กำลังโหลดความคิดเห็น