ไทยออยล์เผยการเข้าถือหุ้น 15.38% ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ผู้ผลิตโอเลฟินส์รายใหญ่ในอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทมีโครงสร้างธุรกิจที่ครบวงจรทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ คาดบันทึกกำไรจาก CAP ในไตรมาส 4 นี้ เบื้องต้นรับรู้กำไร CAP ปีละราว 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังชำระค่าหุ้นงวดแรก 15% ราว 3 หมื่นล้านบาทในเดือนกันยายนนี้ ส่วนที่เหลือชำระหลังมีการอนุมัติการลงทุนโครงการ CAP2 “วิรัตน์” เผยแหล่งเงินทุนช่วงแรกมาจากเงินกู้ยืม ปตท.และสถาบันการเงิน ส่วนขายหุ้น GPSC ไม่เกิน 10.8% ให้ ปตท.ราว 2 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุนฯ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า
วานนี้ (29 กรกฎาคม) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประกาศเข้าร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วนร้อยละ 15.38 ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 39,116 ล้านบาทเพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ โดย CAP มีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 มูลค่าการลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่สูงขึ้นของประเทศ
การลงทุนในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของไทยออยล์ในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ จากเดิมที่มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์ ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูง ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) กล่าวว่า การเข้าร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 15.38 ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 39,116 ล้านบาทนั้น ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะแบ่งการชำระเงินค่าหุ้นออกเป็น 2 งวด คืองวดแรก ทางไทยออยล์เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 15% ใน CAP ในราคาไม่เกิน 914 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,222 ล้านบาท คาดว่าจะชำระเงินค่าหุ้นได้ในเดือนกันยายนนี้ โดยแหล่งเงินมาจากการกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือนจาก ปตท. วงเงินไม่เกิน 670 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22,154 ล้านบาท และที่เหลือเงินกู้จากสถาบันการเงิน
และงวดที่สอง บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วน 0.38% ของ CAP หากมีการอนุมัติการลงทุนในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี CAP2 โดยค่าหุ้นมีมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,928 ล้านบาท ทำให้บริษัทถือหุ้นเพิ่มเป็น 15.38% โดยแหล่งเงินทุนมาจากการขายหุ้นบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในจำนวนไม่เกิน 10.8% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ GPSC โดยจะขายหุ้น GPSC ให้กับ ปตท. คาดว่าจะได้เงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และการเพิ่มทุนไทยออยล์ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจดำเนินการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุน หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Rights) โดยการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) การเสนอขายให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PrivatePlacemen) และ/หรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Pubic Offering) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
“สำหรับราคาหุ้น CAP ที่เข้าซื้อทั้ง 2 งวดราคาไม่เท่ากัน โดยงวดแรกจะถูกกว่างวดที่สอง ซึ่งราคาซื้อหุ้นเพิ่มทุน CAP จะถูกกว่าราคาตลาดหุ้น 20-30% และเป็นราคาเดียวกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ในเครือเอสซีจีใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นราว 30% ใน CAP ส่วนอนาคตจะเข้าถือหุ้นใน CAP เพิ่มมากกว่า 15.38% ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมด้วย”
นายวิรัตน์กล่าวว่า ไทยออยล์คาดว่าจะดำเนินการขายหุ้น GPSC 10.8% ทำให้ยังคงถือหุ้น GPSC อยู่ 10% และเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ ให้แล้วเสร็จในกลางปี 2565 หรืออาจยาวไปถึงไตรมาส 4/2565 เพื่อที่จะนำเงินเพิ่มทุนมาชำระคืนหนี้เงินกู้ Bridging Loan ตามกำหนด ส่วนการเพิ่มทุนบริษัท 10,000 ล้านบาทจะกระทบผู้ถือหุ้นเดิมถูก Dilute ประมาณ 10%
การเข้าลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานกับปิโตรเคมีที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
การร่วมลงทุนใน CAP ทำไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยร่นเวลาหากต้องลงทุนสร้างโรงงานเองจะใช้เวลา 7-8 ปีจึงจะแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ได้ การเข้าซื้อ CAP ทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซียที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก นอกจากนี้ การลงทุนนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยออยล์กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญาเพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นหลังดำเนินการโครงการพลังงานสะอาด(CFP) แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบคือไลท์แนฟทาและแอลพีจีจำนวน 1 ล้านตันจากทั้งหมด 1.3 ล้านตันต่อปีขายให้แก่ CAP นอกจากนี้ ยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย คาดว่ากระบวนการและการดำเนินการต่างๆ ในการเข้าร่วมลงทุนใน CAP สัดส่วนถือหุ้น 15% จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564
ปัจจุบัน CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมี มีส่วนแบ่งการตลาดในอินโดนีเซีย 50% อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และโพลีโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) และจะดำเนินการขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในต้นปี 2565 แล้วดำเนินการก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 เบื้องต้นบริษัทประเมินรับรู้กำไรจาก CAP ประมาณปีละ 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเริ่มบันทึกรับรู้ฯ ในไตรมาส 4 นี้ และเมื่อโครงการลงทุน CAP2 แล้วเสร็จ ไทยออยล์จะรับรู้รายได้จาก CAP เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ไทยออยล์ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2573 จะมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (ปิโตรเลียม) ราว 40%, ปิโตรเคมีและ Hight Value Product ราว 40%, ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจอื่นๆ อีก 10%