xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าเร่งเสริมทรายชายหาดจอมเทียน 6.2 กม. เฟสแรก 3.5 กม.เสร็จ พ.ย. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจ้าท่าเดินหน้าเสริมทรายชายหาดจอมเทียน พัทยา 6.2 กม. จ้าง ITD ลุยระยะที่ 1 ความยาว 3.57 กม. คืบหน้า 4.39% คาดเสร็จ พ.ย. 65 ลดปัญหาการกัดเซาะ คืนสภาพชายหาดสวยงาม ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ว่า กรมเจ้าท่าได้ทำการว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยมีพื้นที่ศึกษาตลอดแนวชายหาดจอมเทียน ความยาว 6.2 กิโลเมตร ตั้งแต่บริเวณหน้าร้านอาหารลุงไสวถึงบริเวณแนวโขดหินหน้าสวนน้ำพัทยาปาร์ค วอเตอร์เวิลด์ ระยะที่ 1 มีความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 มีความยาว 2,855 เมตร

กรมเจ้าท่าได้ทำการว่าจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้ดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนระยะที่ 1 มีระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563-เดือนพฤศจิกายน 2565 (900 วัน) โดยแหล่งทรายที่จะนำมาใช้เสริมบริเวณชายหาดจอมเทียนนำมาจากทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน ห่างจากชายหาดจอมเทียนไปทางทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร ปัจจุบันเริ่มเสริมทรายชายหาด ตั้งแต่โรงแรมจอมเทียนชาเล่ต์จนถึงโรงแรมยู จอมเทียน พัทยา มีผลการดำเนินงานคิดเป็น 4.39%

ทั้งนี้ โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการต่อเนื่องของกรมเจ้าท่า ในการบูรณะชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออกและเป็นแหล่งธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ภายหลังจากกรมเจ้าท่าประสบความสำเร็จในการเสริมทรายชายหาดพัทยา จึงได้มีนโยบายเสริมทรายชายหาดบริเวณหาดจอมเทียน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีผลกระทบเรื่องการกัดเซาะค่อนข้างรุนแรง หากไม่เร่งดำเนินการจะมีการกัดเซาะเข้ามาถึงชายฝั่งที่ดินของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

อนึ่ง สภาพพื้นที่ชายหาดจอมเทียนประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดถดถอยและลดขนาดลงไปทุกปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่ภาคพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ได้ประสานขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2552 ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่อ่าวไทยตะวันออกและจัดให้พื้นที่ชายหาดจอมเทียนเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ในปี พ.ศ. 2557

ทั้งนี้ ภายหลังโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนแล้วเสร็จ จะช่วยบูรณะฟื้นฟูชายหาดจอมเทียนให้กลับมาสวยงาม และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชายหาดจอมเทียน สร้างรายได้สู่ชุมชนและประเทศ ให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการท่องเที่ยวและการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น