“จุรินทร์” ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีติดตามการดำเนินโครงการพาณิชย์ เผยประกันรายได้ปี 2 ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรจริง พร้อมเปิดตัวโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน นำสินค้าจำเป็นราคาถูกขายลดภาระค่าครองชีพ ลดสูงสุด 64% และช่วย SMEs ส่งออกภาคอีสาน เข้าถึงแหล่งทุนในโครงการ “จับคู่กู้เงิน”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ติดตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และข้าว โดยสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทางจากราคาตลาด และเงินส่วนต่าง ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว ปีหน้าจะเป็นปีที่ 3 ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีตัวอย่างเงินส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับในช่วงที่ราคาผลผลิตต่ำกว่าที่ประกันรายได้ไว้ เช่น ข้าวหอมมะลิได้เงินส่วนต่างปีที่ 2 บางครอบครัวได้สูงสุดถึง 42,830 บาท มันสำปะหลังได้สูงสุดถึงครัวเรือนละ 28,000 บาท ยางพาราได้สูงสุดถึงครัวเรือนละ 13,400 บาท
สำหรับการประกันรายได้ ได้ประกันรายได้มันสำปะหลังกิโลกรัม (กก.) ละ 2.50 บาท ยางแผ่นดิบชั้น 3 กก.ละ 60 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 4 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 8.50 บาท
นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังได้เปิดตัวโครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน มีรถโมบายล์ทั้งหมด 18 คัน นำสินค้าราคาพิเศษ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคกระจายไปในทุกอำเภอและในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนต่างๆ ที่ผู้นำท้องถิ่นและท้องที่เป็นผู้ประสานงานจุดที่จะจอดเพื่อจำหน่าย โดยมีตัวอย่างสินค้า เช่น ข้าวหอมมะลิคัดพิเศษของจังหวัดอุบลราชธานีถุงละ 5 กก. ขายราคาถุงละ 130 บาท กก.ละประมาณ 26 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 แผงละ 30 ฟอง ราคา 90 บาท และน้ำมันปาล์มขวด 1 ลิตร ราคาขวดละ 43 บาท น้ำตาลทรายขาวถุงละ 1 กก. ถุงละ 20 บาท ปลากระป๋อง กระป๋องละ 10 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปห่อละ 5 บาท เป็นต้น และยังมีสินค้าอื่นๆ ทั้งกระดาษทิชชู สบู่ โฟมล้างหน้า อุปกรณ์ชำระร่างกาย ผงซักฟอก ซอสปรุงรส และสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่จะขายในราคาพิเศษลดสูงสุดถึง 64% โดยจะวิ่งจำหน่ายเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนเป็นระยะเวลา 30 วัน โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสารรถโมบายพาณิชย์ลดราคา! ว่าจะไปจอดสถานที่ไหนได้ที่ Line Official : @mobilepanich และที่เว็บไซต์ https://mobilepanich.com/
นอกจากนี้ ได้ติดตามโครงการพิเศษที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ที่ผ่านมา คือ โครงการ “จับคู่กู้เงิน” ที่เป็นภาค 2 จากภาคแรกที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว คือ โครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อต่อลมหายใจให้แก่ร้านอาหารที่ประสบกับภาวะวิกฤตในช่วงโควิด-19 และตนกำลังติดตามว่าผลสัมฤทธิ์ของโครงการภาคหนึ่งจะมีการอนุมัติเงินกู้ไปได้เป็นจำนวนเท่าไร คาดว่าตัวเลขการอนุมัติไม่น่าจะต่ำกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท
ส่วนภาค 2 ที่เป็นโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประกอบกิจการส่งออกมีจำนวนไม่น้อยในประเทศ โดย SMEs ทั้งประเทศมี 3,000,000 ราย มี SMEs ส่งออกประมาณ 30,000 ราย คิดเป็น 1% แต่เป็น 1% ที่เป็นทัพหน้าในการทำรายได้ให้แก่ประเทศ จึงเป็นเป้าหมายที่ต้องช่วยเหลือ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จับมือกันในการช่วยหาแหล่งสินเชื่อเงินกู้ให้ SMEs ส่งออก โดยได้เปิดตัวโครงการที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแห่งแรกในภูมิภาค มีผู้ยื่นกู้แล้ว 26 ราย วงเงิน 77.7 ล้านบาท ซึ่ง EXIM Bank จะพิจารณาให้เสร็จใน 7 วันทำการ คิดดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% จากปกติ 6.5% ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ได้กรมธรรม์ประกันการชำระเงินฟรี 1 กรมธรรม์ สำหรับ Shipment ที่ส่งออก และได้รับการอบรมหลักสูตรส่งออก