xs
xsm
sm
md
lg

57 โรงงานน้ำตาลฤดูหีบปี 64/65 ฟื้นตัว “ลุ้นรับผลผลิตเพิ่ม-ราคาโลกขยับ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล ส.อ.ท.เผยแนวโน้ม 57 โรงงานน้ำตาลในประเทศลุ้นรับปัจจัยบวกเพียบในฤดูการผลิตปี 64/65 ทั้งผลผลิตอ้อยที่จะสูงเฉลี่ย 80-90 ล้านตันหนุนปริมาณน้ำตาลเพิ่ม ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูง 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ แถมบาทอ่อนเอื้อส่งออก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงรอลุ้นโควิด-19 ทุเลาหวั่นกระทบนำเข้าแรงงานต่างด้าวช่วงเปิดหีบปลายปี

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่จะทำการเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายปีนี้ซึ่งจะมีโรงงานทั้งหมด 57 แห่งมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 80-90 ล้านตันที่สูงกว่าฤดูหีบปีที่ผ่านมา (ปี 63/64) ซึ่งอยู่ที่ 66.67 ล้านตันซึ่งจะส่งต่อผลผลิตน้ำตาลทรายและการส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยยังทรงตัวระดับสูงราว 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับฤดูหีบปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งจะเอื้อต่อการส่งออก

“ผลผลิตอ้อยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และฤดูหีบใหม่ปี 64/65 ที่จะเปิดหีบช่วงปลายปีนี้หรือราวต้น ธ.ค. 64 ไม่มีใครมองว่าจะลดลงเพราะปริมาณฝนมากกว่าปีก่อนๆ พอสมควรแม้จะทิ้งช่วง ประกอบกับปัจจัยในเรื่องของราคาตลาดโลกก็เอื้อเพราะบราซิลผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกประสบภาวะภัยแล้งทำให้ทิศทางราคายังยืนในระดับสูง” นายชลัชกล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของปริมาณโรงงานน้ำตาลทรายแม้ล่าสุดจะมีการปิดโรงงานกุมภวาปีไปแต่ยังมีโรงงานเกิดใหม่ที่นครราชสีมา จึงทำให้โรงงานที่จะเปิดหีบมีจำนวน 57 แห่งคงเดิมและศักยภาพการหีบก็เพิ่มขึ้นโดยยอมรับว่าปริมาณอ้อยหากอยู่ในระดับ 80-90 ล้านตันถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้แย่นัก แต่หากจะให้ดีปริมาณอ้อยควรอยู่ราว 100-130 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามขณะนี้คือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีทิศทางอย่างไรหากสถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น หรือการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงอาจจะกระทบต่อการตัดอ้อยเข้าหีบได้เพราะไทยต้องอาศัยแรงงานจากต่างด้าวเป็นหลัก

“รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฤดูหีบใหม่มีเป้าหมายต้องเหลืออ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 10% ขณะที่รถตัดอ้อยมีราคาแพงคันละ 8-10 ล้านบาทยังมีจำกัด ส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยแรงงานคนซึ่งคนไทยไม่ทำแล้วแต่เราเองก็ยังไม่แน่ใจ ถึงวันนั้นจะนำเข้าแรงงานมาได้มากน้อยเพียงใดคงจะต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยเอกชนนั้นพร้อมที่จะฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวโดยจ่ายเงินเอง” นายชลัชกล่าว

สำหรับการปรับตัวอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายนั้นจำเป็นต้องมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เพราะหากอาศัยเพียงการผลิตน้ำตาลทรายไม่สามารถอยู่รอดได้ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล เอทานอล ฯลฯ และหากถามถึงอนาคตควรจะก้าวไปสู่ทิศทางใดนั้นที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อยกระดับการสร้างมูลค่าให้แก่พืชเกษตร และหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมอ้อยที่จะก้าวไปสู่ไบโอฮับในภูมิภาค แต่ยอมรับว่าความคืบหน้ายังคงมีไม่มากนักเพราะการสร้างความต้องการ (ดีมานด์) ในประเทศเป็นเรื่องสำคัญแต่มาตรการที่รัฐออกมายังไม่ตอบโจทย์นัก


กำลังโหลดความคิดเห็น