3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเผยผลกระทบโควิด-19 ทำให้ไทยบริโภคน้ำตาลทรายลดต่ำกว่าที่คาดไว้ในรอบผลิตปี 63-64 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) เหลือ 2.2 ล้านตันจากที่คาดไว้ 2.4 ล้านตัน โดย 8 เดือนบริโภคแล้วเพียง 1.5 ล้านตัน ประเมินผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2564/2565 ที่ระดับ 90 ล้านตัน หลังการันตีราคารับซื้ออ้อยขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การบริโภคน้ำตาลภายในประเทศในรอบการผลิตปี 2563-2564 (ตุลาคม 2563-กันยายน 2564) คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2.2 ล้านตัน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการบริโภคอยู่ที่ 2.4 ล้านตันเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทยทั้งรอบที่ 2 และรอบใหม่ล่าสุดที่ทำให้การบริโภคน้ำตาลทรายภาพรวมลดลงต่อเนื่อง โดยพบว่าในช่วง 8 เดือน (ตุลาคม 2563-พฤษภาคม 2564) มีปริมาณขายน้ำตาลภายในประเทศแล้วเพียง 1.5 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้น โรงงานจะนำน้ำตาลส่วนที่เหลือจากการกันไว้บริโภคภายในประเทศระดับที่สูงเพื่อป้องกันขาดแคลนไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศแทน
“โรงงานน้ำตาลจัดสรรปริมาณน้ำตาลไว้สูงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค มิให้เกิดภาวะขาดแคลนภายในประเทศ แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคลดลงมากและต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจากปริมาณการบริโภคในประเทศที่ลดต่ำกว่าที่คาดไว้ โรงงานจะนำน้ำตาลส่วนที่เหลือจากการขายในประเทศส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศแทน เพื่อบริหารซัปพลายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” นายปราโมทย์กล่าว
สำหรับผลผลิตอ้อยในฤดูหีบใหม่ (ปี 2464/65) ที่จะมีการเปิดหีบในปลายปีนี้นั้น จากการสำรวจปริมาณผลผลิตอ้อยเบื้องต้นของโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 แห่งคาดการณ์ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบเพิ่มประมาณ 90 ล้านตัน สูงกว่าฤดูหีบปี 2563/64 ที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 66.67 ล้านตัน โดยปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ในราคาขั้นต่ำที่ 1,000 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่ให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดอ้อยสด ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อส่งมอบให้แก่โรงงาน รองรับความต้องการบริโภคน้ำตาลที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แม้ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกได้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกต้องเผชิญกับปัญหาจากสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อย ประกอบกับการคาดการณ์ว่าบราซิลจะนำผลผลิตอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น จะส่งผลสะท้อนต่อสภาวะราคาน้ำตาลตลาดโลกในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง