นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิต ซึ่งมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สมดุล ทั้งด้านปริมาณ ความต้องการสินค้า และมีความมั่นคงทางการตลาด โดยในปี 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนินโครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ (ระยะที่1) ผ่านกลไกคณะทำงานจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โดยมีนางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งหน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะทำงานและเลขานุการ รวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ ในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตและปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการของเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยการเกษตรสมัยใหม่และแม่นยำ ตั้งแต่การผลิตสินค้าเกษตร โดยมีตลาดที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน เน้นกระบวนการจัดการที่ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาในทุกด้าน ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ
“การดำเนินโครงการครั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มคิกออฟได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม และได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร ที่สำคัญคือมีตลาดรองรับที่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งรายได้ของชุมชน จังหวัด และประเทศที่มากขึ้นไปด้วย บนฐานความยั่งยืนด้านรายได้และความเข้มแข็งของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร” เลขาธิการ สศก. กล่าว
สำหรับโครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำ สู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ เตรียมจะดำเนินการปี 2564 – 2566 โดยระยะแรก ดำเนินการร่วมกับ 7 บริษัท เกษตรกร 25,286 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัด รวมพื้นที่ 298,111.36 ไร่ สินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา โดยบริษัท ไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ปาล์มน้ำมัน โดยบริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด อ้อยโรงงาน โดยโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ข้าวโพดหวาน โดยบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) และ มะเขือเทศ โดยบริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด
ทั้งนี้ มีเป้าหมายจะดำเนินการในพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีการขึ้นทะเบียนแปลงใหญ่กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นเกษตรกรรายย่อยเครือข่ายของบริษัทผู้รับซื้อผลผลิตที่จะขึ้นทะเบียนรวมเป็นแปลงใหญ่ภายใต้โครงการ โดยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากแหล่งรับซื้อ เพื่อลดต้นทุนการจัดการด้านโลจิสติกส์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ และการดำเนินการในระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถ (Scale up) ของแปลงใหญ่ขึ้นไปสู่การรวมเป็นกลุ่มจังหวัด/ภูมิภาค (Area base) โดยจะมีการให้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเกษตร (Product base) ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อป้อนเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอความต้องการสินค้าเกษตรมาพร้อมแล้ว อาทิ มันสำปะหลัง ผักอินทรีย์ ผลไม้ ยูคาลิปตัส และ โกโก้