จับตาโรงงานน้ำตาลบางแห่งเริ่มปิดป้ายรับซื้ออ้อยราคาตันละ 1,300บาทในฤดูหีบปี 64/65 เพื่อแย่งอ้อยเข้าหีบในปลายปีนี้หลังสัญญาณผลผลิตอ้อยเมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลยังไม่สมดุล แม้โรงงานกุมภวาปีปิดแต่ก็มีโรงงานผุดเพิ่มอีก 1 แห่งทำให้โรงงานเปิดหีบยังคงอยู่ 57 แห่ง แถมต้องเกาะติดฝนทิ้งช่วงหวั่นฉุดผลผลิตลงอีก
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งเริ่มติดป้ายประกาศรับซื้ออ้อยในฤดูการหีบปี 2564/65 ล่วงหน้าในราคา 1,300 บาทต่อตันเนื่องจากหากมองสถานการณ์ผลผลิตอ้อยในขณะนี้แม้ว่าภาพรวมมีแนวโน้มจะสูงกว่าฤดูหีบปี 63/64 ประมาณ 10-13 ล้านตันหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ล้านตันก็ตามแต่เนื่องจากปริมาณฝนที่ทิ้งช่วงก็กำลังทำให้หลายฝ่ายยังกังวลถึงผลผลิตที่อาจลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับหากพิจารณาจำนวนโรงงานน้ำตาลทรายของฤดูหีบใหม่ยังมีการเปิดโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งทำให้ผลผลิตอ้อยยังคงไม่เพียงพอกับโรงงาน
“ ฤดูหีบปี 63/64 ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 66.66 ล้านตันมีโรงงานที่เปิดหีบทั้งสิ้น 57 แห่งซึ่งกำลังผลิตโรงงานที่เหมาะสมกับอ้อยเข้าหีบควรจะอยู่ระดับตั้งแต่ 100 ล้านตันขึ้นไป แม้ล่าสุดปี64/65 คาดการณ์จะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านตันบวกลบ และมีการปิดโรงงานบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด จ.อุดรธานีแต่อัตรากำลังผลิตอ้อยส่วนนี้ไม่ได้หายไปเพราะมีการนำไปป้อนโรงงานในเครือที่มีกำลังผลิตที่ขยายเพิ่มแทน ประกอบกับฤดูหีบปีนี้จะมีโรงานเปิดหีบเพิ่มอีก 1 แห่งที่จ.นครราชสีมาทำให้ความสามารถในการหีบอ้อยมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอ้อยก็ยังถือว่าต่ำกว่าพอสมควร”นายนราธิปกล่าว
ทั้งนี้ในแง่ของผลผลิตอ้อยยังคงต้องเฝ้าติดตามเนื่องจากขณะนี้พบว่ามีปริมาณฝนเริ่มลดต่ำและหากมีการทิ้งช่วงนานจะกระทบต่อตออ้อยส่งผลให้ผลผลิตอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้เช่นกันเนื่องจาก 80% ของผลผลิตอ้อยในไทยยังต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนในแง่ของจำนวนพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของไทยฤดูหีบปี64/65 ยังคงทรงตัวในระดับ 9.5-10 ล้านไร่ไม่ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากขณะนี้การปลูกอ้อยมีต้นทุนที่สูงขึ้นและการบริหารจัดการที่ยุ่งยากซับซ้อนจากการที่ต้องตัดอ้อยสดที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและจะต้องไปหาจ้างรถตัดทำให้รายเล็กๆและกลางหันไปปลูกพืชอื่นที่บริหารง่ายและกำไรมากกว่า เช่นมันสำปะหลัง
นายนราธิปกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลที่สามารถเสนอราคารับซื้ออ้อยระดับสูง 1,300 บาทต่อตันได้เนื่องจากมีรายได้และกำไรจากธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาศัยเพียงรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทางเดียวซึ่งในอนาคตโรงงานน้ำตาลที่ไม่แตกไลน์ธุรกิจไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ต่อเนื่องจากน้ำตาลจะอยู่ยากขึ้น อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับใหม่)ที่อยู่ระหว่างแก้ไขเพื่อประกาศใช้ที่จะมีการกำหนดให้ผลพลอยได้จากการหีบอ้อยเช่น กากอ้อย ให้สามารถนำมาเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่ฝ่ายโรงงานระบุว่าจะทำให้โรงงานอยู่ลำบากยิ่งขึ้นนั้นควรมองในมุมกลับว่าผลพลอยได้ดังกล่าวจะถูกคำนวณเป็นราคาอ้อยที่เป็นธรรมให้กับชาวไร่เพิ่มขึ้นก็จะจูงใจให้ชาวไร่ปลูกอ้อยต่อไปซึ่งประโยชน์จะตกทั้งสองฝ่ายมากกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“ ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี64/65 ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส วันนี้โรงงานได้ประกันราคาจะได้ 1,000 บาทต่อตันอยู่แล้ว ถือว่าเป็นผลดีต่อชาวไร่ระดับหนึ่งแต่สุดท้ายการเพาะปลูกอ้อยก็ต้องดูที่กำไร ความยุ่งยากของการบริหารจัดการเป็นองค์ประกอบ”นายนราธิปกล่าว