xs
xsm
sm
md
lg

“สกู๊ต” ปักหมุด “ไทย” มั่นใจการบินฟื้นเร็ว ประเดิมเครื่องรุ่นใหม่ A321 Neo บินสู่สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สายการบินสกู๊ตขยายฝูงบิน สั่งเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัส A321 Neo จำนวน 16 ลำ ประเดิมเที่ยวบินแรก “สิงคโปร์-สุวรรณภูมิ” 28 มิ.ย.ปักหมุดไทย มั่นใจโอกาสธุรกิจการบินฟื้นมากสุดในภูมิภาค พร้อมลงทุนระบบไอที ปรับบริการแบบ New Normal
นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต (Scoot) ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดในกลุ่มธุรกิจสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เปิดเผยว่า จากการที่สายการบินสกู๊ตได้มีการจัดหาเครื่องรุ่นแอร์บัส A321neo จำนวน 16 ลำ เพื่อขยายฝูงบิน โดยสั่งซื้อจำนวน 6 ลำ และจัดหาภายใต้สัญญาเช่าอีก 10 ลำ ซึ่งได้รับมอบแล้วในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2564 จำนวน 3 ลำ (ผ่านการเช่าแบบลีสซิ่งจาก BOC Aviation) ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบแล้วเสร็จภายในปี 2567

โดยในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 สายการบินสกู๊ตจะทำการบินด้วยเครื่องรุ่นแอร์บัส A321neo ลำใหม่ เที่ยวบินแรกมายังประเทศไทย ด้วยเที่ยวบินที่ TR610 จากสนามบินชางงี สิงคโปร์ สู่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ และในเดือน ส.ค. 2564 จะเริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ในเส้นทางบินสิงคโปร์-เซบู (ฟิลิปปินส์) และสิงคโปร์-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) ซึ่งเครื่องบิน A321neo ลำใหม่สามารถรองรับผู้โดยสาร 236 ที่นั่ง ให้บริการในชั้นประหยัดเท่านั้น กับผังที่นั่งแบบ 3-3

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2020/2021 ที่ผ่านมาสกู๊ตได้ปลดประจำการเครื่องบิน A320ceo จำนวน 5 ลำ ตามแผนการปรับปรุงฝูงบินปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีฝูงบินประกอบด้วย เครื่องบินแบบมีช่องทางเดินเดียว 29 ลำ ได้แก่ A320ceo 21 ลำ A320neo 5 ลำ และ A321neo 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมี A320neo 28 ลำ และ A321neo อีก 13 ลำ ที่กำลังรอการส่งมอบ ส่วนเครื่องบินแบบลำตัวกว้างของสกู๊ตมีจำนวน 20 ลำ เป็นเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ทั้งหมด และกำลังรอการส่งมอบเพิ่มอีก 7 ลำ โดยอายุเฉลี่ยของฝูงบินของสกู๊ตในขณะนี้อยู่ที่ 5 ปี 10 เดือน

เครื่องบินตระกูล A321neo เป็นการนำเทคโนโลยีล่าสุดทั้งเครื่องยนต์รุ่นใหม่และอุปกรณ์ปลายปีกแบบชาร์กเลตส์ (Sharklets) มารวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ถึง 20% มี จุดเด่นเครื่องบิน มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล หรือ 4,852 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สกู๊ตสามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง ทำให้สามารถรองรับแผนการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินใหม่ได้มากขึ้นในอนาคต

การที่เครื่องบินแอร์บัส A321neo สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และยังประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า ทำให้สกู๊ตสามารถบริหารความคุ้มทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

เช่น สามารถเลือกใช้เครื่องบินแอร์บัส A321neo แทนรุ่น A320 สำหรับเที่ยวบินที่ได้รับความนิยม หรือในช่วงวันที่มีดีมานด์สูง หรือช่วงเทศกาล ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาให้บริการแทนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่มีขนาดใหญ่กว่าของสกู๊ตในช่วงที่ความต้องการในการเดินทางลดลง นอกจากนี้ สกู๊ตยังสามารถเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินได้มากขึ้น โดยการนำเครื่องบินแอร์บัส A321neo มาใช้เสริมในบางเส้นทางของโบอิ้ง 787 ซึ่งจะช่วยตอบรับความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางมากขึ้น

การขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินแอร์บัส A321neo ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของสกู๊ตในการยกระดับประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารผ่านฟังก์ชันของเครื่องบินลำใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้โดยสารเบาะหนังสีดำพรีเมียม ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะขนาดใหญ่ เทคโนโลยีแสงไฟแบบ Ambient Light ที่สามารถช่วยลดอาการเจ็ตแล็ก รวมถึงคุณภาพอากาศในห้องโดยสาร และประสิทธิภาพในการลดเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ที่ดียิ่งขึ้น

และในระยะยาว เครื่องบินแอร์บัส A321neo จะช่วยให้สกู๊ตสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้นด้วยปลายปีก Sharklets และเครื่องยนต์อากาศยานแพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ รุ่น PW1100G-JM ที่ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับบันทึกก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว

นายแคมป์เบลกล่าวว่า ปัจจุบันสกู๊ตให้บริการในเส้นทางสิงคโปร์–กรุงเทพฯ (สนามบินสุวรรณภูมิ) จำนวน 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สกู๊ตกำลังเตรียมการเพื่อที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งด้วยความปลอดภัยและมั่นใจ โดยวางแผนที่จะกลับมาให้บริการในเส้นทาง สิงคโปร์-เชียงใหม่ สิงคโปร์-หาดใหญ่ สิงคโปร์-กระบี่ และ สิงคโปร์-กรุงเทพฯ-โตเกียว เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

“ประเทศไทยนั้นถือเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ เป็นตลาดที่แข็งแกร่งของสกู๊ตมาโดยตลอด ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต โดยจะมีการวางเครือข่ายการบินจากประเทศไทย สู่สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอื่นๆ และมองว่าประเทศไทยมีโอกาสการเติบโตอย่างมากทั้งตลาด inbound และ outbound คิดว่ามีอนาคตที่น่าตื่นเต้นของสกู๊ตรอเราอยู่ที่นี่ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่สกู๊ตจะให้ความสำคัญ หลังจากจบโควิด-19”

ส่วน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่รัฐบาลไทยจะเปิดในวันที่ 1 ก.ค. 2564 นั้น สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ซึ่งเป็นเครือข่ายการบินเดียวกับสกู๊ตได้ทำการบินอยู่แล้ว ส่วนสกู๊ตยังไม่ได้ทำการบินเข้าภูเก็ตในช่วงนี้

นอกจากนี้ สกู๊ตได้เตรียมความพร้อมรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน โดยได้ลงทุนเทคโนโลยีอย่างมากเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของบริการ เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจและเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่จะให้การบริการเที่ยวบินที่ลดการสัมผัสหรือเกือบไร้สัมผัสผ่านช่องต่างๆ เช่น ช่องทางการเช็กอินออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน หรือการเช็กอินกับแชตบอต รวมถึงคีออสก์ที่ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอแทนการติดต่อเคาน์เตอร์ และยังมีพอร์ทัล ScootHub ที่สามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มได้ หรือสินค้าปลอดภาษี นอกจากนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนขั้นตอนการบริการลูกค้าบางอย่างไปเป็นอัตโนมัติ เช่น การคืนเงิน โดยไม่ต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือติดตามสัมภาระที่หายได้ทางออนไลน์แทนติดต่อเจ้าหน้าที่

มีการลงทุนระบบการจัดการรายได้พร้อมเครื่องมือกำหนดราคาแบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยี AI และ Machine learning พร้อมระบบวางแผนการบินแบบใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าเส้นทางของเครื่องบินของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงและปล่อยมลพิษน้อยลง และระบบจัดการพนักงานแบบใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้น และมีการปรับใช้แชตบอตให้มากขึ้น ทั้งสำหรับลูกค้าและการสื่อสารภายใน

นายแคมป์เบลกล่าวว่า ปัจจุบันอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load factor) โดยเฉลี่ย 12-15% ซึ่งค่อนข้างน้อยเทียบกับภาวะปกติ แต่รวมคาร์โก้ ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเครื่องบิน 2 ลำ นำที่นั่งออกเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า รวมถึงวัคซีน ซึ่งสถานการณ์ฟื้นตัวมีแนวโน้มกลับมาอย่างช้าๆ ซึ่งสายการบินราคาประหยัดยังคงตอบโจทย์ของประชากรในภูมิภาคเอเชีย

สกู๊ตได้เตรียมความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งภายใต้มาตรการที่เข้มงวด มีการตรวจหาเชื้อโควิดให้แก่ลูกเรือเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร และเตรียมการหลายอย่างเพื่อให้สายการบินพร้อมสำหรับความปกติใหม่นี้ โดยลูกเรือได้รับวัคซีนครบ 100% และยังออกประกันเดินทางที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของผู้โดยสาร

โดยจะทยอยเปิดเส้นทางที่เคยทำการบิน ซึ่งเปิดแล้ว 26 เมือง จาก 48 เมือง นอกจากนี้ ทำการศึกษาการเปิดเส้นทางใหม่ โดยไม่จำกัดว่าจะเริ่มต้นจากสิงคโปร์ ซึ่งจะมาจาก hub อื่นด้วย โดยมั่นใจมากว่า กลับมาอย่างแน่นอน และความต้องการการบินจะมากกว่าช่วงก่อนหน้า ได้วางแผนบินทุกเส้นทาง กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ หรือต่างประเทศ เช่น โตเกียว แต่จะกลับมาให้บริการต่างๆ ได้เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และกฎระเบียบของทางการด้วย



นายแคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต (Scoot)


กำลังโหลดความคิดเห็น