xs
xsm
sm
md
lg

”การบินไทย“ เร่งแผนกู้ 2.5 หมื่นล้านเสริมฐานะการเงิน เหลือใช้จ่ายไม่ถึงสิ้นปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟู ”การบินไทย” เร่งเครื่องฟื้นธุรกิจ ยอมรับกระแสเงินมีใช้ไม่ถึงสิ้นปี 64 เร่งเงินกู้ 2.5 หมื่นล้าน พร้อมเตรียมทรัพย์สินค้ำประกันและขายบางส่วน กางแผนบิน Q3/64 หนุน ”ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” คาด Q4 กลับมาบินกว่า 40%

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 15 มิ.ย. 2564 ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่างๆ แล้ว ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข กล่าวคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
 
ทั้งนี้ การบินไทยต้องการเงินทุน 5 หมื่นล้านบาท ทยอยเข้ามา 1-3 ปี ซึ่งการปรับโครงสร้าง ลดคน ได้ทำไปแล้วเพื่อเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูเพื่อให้อยู่ได้ 3-5 ปี และออกจากแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี ซึ่งสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง เท่ากับมีเวลาฟื้นฟู 7 ปี โดยขณะนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านคนได้เกือบ 50% สูงกว่าหลายสายการบินแล้ว ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน

“มั่นใจในรัฐบาลในการฉีดวัคซีน และมั่นใจว่าไตรมาส 3-4/2564 จะมากขึ้น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เกิดขึ้นและจะมีการกระจายไปยังเมืองท่องเที่ยวต่างๆ และการเดินทางจะกลับมาและปี 2565 จะมีสัญญาณที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเด็นที่ท้าทายคือ กระแสเงินสดที่ลดลง โดยในแผนจะต้องนำทรัพย์สินรองออกมาหารายได้ รวมถึงเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น สหกรณ์ เจ้าหนี้ภาครัฐ ธนาคาร หรือผู้สนใจในการลงเงินใหม่”
 
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า แผนกำหนดวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และจากสถาบันเอกชน 25,000 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่ากระแสเงินสดตอนนี้สามารถดำเนินการได้ไม่ถึงปลายปี 2564 ดังนั้นจึงต้องการเม็ดเงินเข้ามาโดยเร็วที่สุด เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน และชดเชยพนักงานที่ลาออก ซึ่งการกู้เงินจากสถาบันการเงินจะต้องใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำนักงานสีลม, หลานหลวง และดอนเมือง รวมถึงสำนักงานขายในต่างประเทศ และหากรายได้ไม่เข้ามาจะมีการขายทรัพย์สินรองบางตัวออกไป
 
ส่วนมูลหนี้ขณะนี้มีไม่ถึง 400,000 ล้านบาท แต่จะเป็นเท่าไรยังอยู่ในกระบวนการซึ่งยังไม่จบ ส่วนสัญญาเช่าเครื่องบินจะมีการยกเลิกทั้งหมด 16 ลำ ซึ่งหนี้ส่วนนี้จะมีภาระสัญญาเกินควรจากประโยชน์ที่ควรจะได้ ซึ่งมีสิทธิ์ยกเลิกจากผู้ให้เช่าได้ ทำให้ความเสี่ยงภาระหนี้ในอนาคตลดลง โดยยังมีกระบวนการดำเนินการ โดยตามแผนจะปรับลดฝูงบินเหลือ 60 ลำ จากเดิมจำนวน 102 ลำ เป็นเครื่องบินสัญญาเช่าดำเนินการ เช่าทางการเงิน รวม 54 ลำ และเครื่องบินของการบินไทย 6 ลำ
 
นายนนท์ กลิ่นทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยไม่ได้หยุดบิน โดยไปเน้นเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ซึ่งแผนการบินมี 100-200 เที่ยวบินต่อเดือน และสิ้นเดือนจะเพิ่มเป็น 400-500 เที่ยวบิน สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ ในไตรมาส 3-4/2564 ซึ่งฝ่ายการพาณิชย์มีการปรับโครงสร้างเพื่อให้การทำงานรวดเร็ว คล่องตัวมากขึ้น
 
โดยในไตรมาส 3/2564 แผนการบินจะมีการตอบสนองนโยบายรัฐบาล ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยมีเส้นทางบินตรงเข้าภูเก็ตจากยุโรป 5 เมือง คือ แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน โคเปนเฮเกน ปารีส และซูริก และเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2564 โดยคาดหมายว่าหากสถานการณ์โควิดที่อินเดียดีขึ้นจะเปิดเส้นทางบินตรงจากเดลี-ภูเก็ต และยังมีจากเกาหลีและญี่ปุ่นเพิ่มเติม ส่วนไทยสมายล์จะทำการบินเส้นทางจากฮ่องกงและสิงคโปร์ไปยังภูเก็ต
 
โดยเส้นทางภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เที่ยวบินแรก จากแฟรงเฟิร์ต (วันที่ 2 ก.ค.) - ภูเก็ต (วันที่ 3 ก.ค.) ยอดจองตั๋วมากกว่า 100 ที่นั่ง เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีในสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดว่าภายในเดือน ก.ค.ที่เริ่มเปิดบินเส้นทางไปยังภูเก็ต แนวโน้มผู้โดยสารระดับมากกว่า 1,000 คน
 
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2564 จะมีเที่ยวบินประมาณ 30-35% และไตรมาส 4 /2564 เพิ่มเป็นกว่า 40% เทียบกับปี 2562 และถึงปี 2568 เที่ยวบินจะยังมีประมาณ 85% จากที่เคยบินในปี 2562 รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่มีกระแสเงินสดเข้ามาแน่นอน
 
นาวาอากาศตรี อนิรุต แสงฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ กล่าวว่า ช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาการบินไทยยังคงมีการบินรวมกว่า 4,000 กว่าเที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินโดยสารที่ขนคนไทยกลับบ้านและต่างชาติ รวมกว่า 77,000 คน ขนส่งสินค้ากว่า 80,000 ตัน นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมตัวเครื่องบิน นักบินและลูกเรือสำหรับการเปิดบินในช่วงไตรมาส 3-4 /2564 ซึ่งจะนำเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์แบบใหม่มาให้บริการอีกครั้ง โดยมีการทดสอบเครื่องบินและฝึกนักบิน ลูกเรือ เตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง
 
นายชวาล รัตนวราหะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร กล่าวว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยมีมูลค่า 56,000 ล้านบาท ถึงวันที่ผู้บริหารแผนได้เริ่มทำงาน ซึ่งแผนฟื้นฟูได้ทำสำเร็จไปแล้ว โดยสามารถลดต้นทุนไปแล้วมูลค่า 25,700 ล้านบาท โดยหากปริมาณการขนส่งกลับมาเหมือนเดิม เทียบกับปี 2562 ที่ขาดทุน 12,000 ล้านบาท เท่ากับวันนี้บริษัทมีกำไร 10,000 กว่าล้านบาท ขณะที่แผนส่วนที่เหลือจะเป็นการเพิ่มรายได้ 15% และลดต้นทุนเพิ่มอีก 15%


กำลังโหลดความคิดเห็น