วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหนี้การบินไทย 28 กลุ่มจากทั้งหมด 36 กลุ่ม จำนวนหนี้รวมทั้งสิ้น 1.16 แสนล้านบาท คิดเป็น 91.56% ของเจ้าหนี้ ลงมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายล้มละลาย คือ วันที่ 28 พฤษภาคม ศาลล้มละลายนัดไต่สวน เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้
แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยมีอายุ 5 ปี หากเสร็จก่อน ก็ขอออกจากแผนฟื้นฟูได้หากไม่เสร็จ แต่การฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามแผน ขอต่ออายุได้ 2 ครั้งๆ ละ 1 ปี หากทำไม่ได้ต้องออกจากแผนฟื้นฟูเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการบินไทย ผู้ถือหุ้น และประเทศไทยที่จากนี้ไปอีก 5 ปี การบินไทย สายการบินแห่งชาติ เจ้าของเครือข่ายการบินระดับโลกที่เป็นสินทรัพย์สำคัญของชาติ จะปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมืองที่เคยมีอำนาจกำกับดูแล ข้าราชการจากกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กองทัพอากาศ ตลอดจนผู้ที่เคยมีส่วนได้เสียในการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ซื้อเครื่องบิน ผ้าห่ม ถ้วยชามที่บริการผู้โดยสาร ไวน์ มะนาว ฯลฯ ตลอดจนบรรดาเอเย่นต์ขายตั๋ว
แม้แต่บอร์ดก็ไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายสั่งการใดๆ หรือแต่งตั้งภรรยา ญาติพี่น้อง เพื่อนมากินตำแหน่งตามใจชอบ
การบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการอยู่ในการกำกับดูแลของศาลล้มละลาย โดยการบริหารงานของผู้บริหารแผน 5 คนที่จะถูกสอดส่อง ควบคุม โดยคณะกรรมการสินเชื่อใหม่ และคณะกรรมการเจ้าหนี้ หากเห็นว่า ผู้บริหารแผนไม่ได้ทำตามแผน หรือทำให้เกิดความเสียหาย เสนอให้ศาลล้มละลายปลดผู้บริหารแผนได้
ผู้บริหารแผนมี 5 คนได้แก่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พรชัย ฐีระเวช, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร, ศิริ จิระพงษ์พันธ์ และไกรสร บารมีอวยชัย
ปิยสวัสดิ์ และพรชัย เป็นผู้บริหารแผน จากฟากลูกหนี้คือการบินไทย ปิยสวัสดิ์ เป็นบอร์ดการบินไทย และเป็นหนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ พรชัย ที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรักษาการรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมาแทนจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเดิมมีชื่อเป็นผู้บริหารแผน แต่เกษียณอายุราชการไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พรชัยจึงถูกส่งมาเป็นผู้บริหารแผนแทน
ชาญศิลป์ แม้จะเป็นรักษาการ ดีดีการบินไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในคณะผู้ทำแผน แต่ไม่มีชื่อเป็นผู้บริหารแผนฉบับลูกหนี้ในตอนแรก ในช่วงการแก้ไขแผนก่อนการประชุมเจ้าหนี้ กลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่มีมูลหนี้มากที่สุด เสนอชาญศิลป์ เป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติม
ผู้บริหารแผนคนที่ 4 และ 5 คือ ศิริและไกรสร คือคนของธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ศิริ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนที่แล้ว เป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ไกรสร อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี ผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายฟื้นฟูกิจการ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
ผู้บริหารแผน 4 คน ไม่รวมพรชัย ถ้าดูจากภูมิหลังล่าสุดแล้ว เป็นส่วนผสมของคน ปตท. คือ ปิยสวัสดิ์ และชาญศิลป์ กับคนของแบงก์กรุงเทพ คือ ศิริ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องปิโตรเคมี และไกรสรที่ตอนทีพีไอฟื้นฟูกิจการ เป็นที่ปรึกษาของแบงก์กรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่ของทีพีไอในตอนนั้น ภายหลังการฟื้นฟู ทีพีไอตกเป็นกิจการของ ปตท.โดยเปลี่ยนชื่อเป็นไออาร์พีซี
แบงก์กรุงเทพ นอกจากจะส่งคนมานั่งคุมการบินไทยผ่านผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คนแล้ว ยังมีคนอยู่ในกรรมการสินเชื่อใหม่ ซึ่งเป็นกลไกกำกับการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ ที่ไม่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย แต่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในแผนฟื้นฟูการบินไทย ตามความต้องการของเจ้าหนี้ เพราะในแผนฟื้นฟูต้องใส่เงินใหม่เข้าไป 5 หมื่นล้านบาท มาจากกระทรวงการคลัง และเจ้าหนี้สถาบันการเงินฝ่ายละ 25,000 ล้านบาท
คณะกรรมการสินเชื่อใหม่ จะกำกับดูแลการใช้เงินที่ใส่เข้าไปใหม่ให้เป็นไปตามแผนมีประสิทธิภาพ ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย ซึ่งที่ผ่านมา เป็นขุมทรัพย์ที่มี “ขาใหญ่” จับจองโควตา หรือเก็บค่าหัวคิวอยู่ตลอดซัปพลายเชน ตั้งแต่ การซื้อเครื่องบินไปจนถึงมะนาว เป็นสาเหตุสำคัญแห่งการล่มสลายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการจะทำไม่ได้แล้ว เพราะจะถูกกลั่นกรองตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากกรรมการสินเชื่อใหม่
แบงก์กรุงเทพยังมีตัวแทนในกรรมการเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่ 7 คน ตามกฎหมายล้มละลาย เป็นตัวแทนเจ้าหนี้ที่คอยสอดส่องดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนฟื้นฟู เพื่อให้มีการชำระหนี้เก่าคืนตามแผน
ทั้งกรรมการสินเชื่อใหม่ และกรรมการเจ้าหนี้มีบทบาทในการกำกับดูแลการบินไทยให้เดินไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นกำแพงกันฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำทั้งพลเรือน และกองทัพอากาศ ที่แสวงหาผลประโยชน์แบบที่เคยทำมา 60 ปี ออกไปจากการบินไทยในช่วง 5 ปีของแผนฟื้นฟู
สำหรับผู้บริหารแผนทั้ง 5 คน คีย์แมนหลัก คือ ปิยสวัสดิ์ ในฐานะที่เคยมีผลงาน พลิกฟื้นการบินไทยที่ขาดทุนหลายหมื่นล้านบาท ให้กลับมามีกำไรเมื่อสิบปีที่แล้ว ก่อนที่จะถูกปลดจากตำแหน่ง โดยสาเหตุที่ไม่สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ หลังจากนั้น การบินไทยก็ขาดทุนมาตลอด เปลี่ยนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดีไป 4-5 คน ก็มีแต่แย่ลงจนมาเจอกับวิกฤตโควิด เป็นโอกาสให้ใช้ช่องฟื้นฟูกิจการปลดแอกจากนักการเมือง ข้าราชการประจำ เครือข่ายผู้บริหารในอดีต
แม้จะพ้นจากดีดีการบินไทยมา 10 ปีแล้ว แต่ผลงานการพลิกฟื้นการบินไทยของปิยสวัสดิ์ ทำให้เขาต้องรับบทหัวหน้าทีมฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ พนักงานการบินไทยจำนวนมากเชื่อมั่น และศรัทธาในกัปตันคนนี้ที่เคยพาการบินไทยฝ่ามรสุมได้สำเร็จมาแล้ว ความร่วมมือ ร่วมใจ เชื่อมั่นในผู้นำของพนักงานในองค์กร เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การบินไทยกลับมาได้อีกครั้งหนึ่งอย่างเข้มแข็ง ถึงแม้ว่า ปัจจัยภายนอกคือ สถานการณ์โควิด เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม
การบินไทยจะได้เกิดใหม่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ