xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเคลียร์พื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบินจบใน ก.ย. 64 ส่งมอบ ซี.พี.ตอกเข็มช่วง “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” 170 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” เคลียร์พื้นที่ เวนคืน บุกรุก “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. จบใน ก.ย. และออก NTP ส่งมอบ “ซี.พี.” ตอกเข็ม ต.ค. 64 ตามสัญญา พร้อมกับโอน “แอร์พอร์ตลิงก์” ยันบริการไม่สะดุด เสนออีอีซีเร่งก่อสร้างช่วงทับซ้อนรถไฟไทย-จีน ช่วง “บางซื่อ-ดอนเมือง”

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครั้งที่ 4/2564 (ครั้งที่ 15) วันที่ 29 มิ.ย. ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการส่งมอบพื้นที่ให้กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ซึ่งเป็นคู่สัญญาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนนอกเมือง สนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภาให้กับเอกชนคู่สัญญา ระยะทาง 170 กิโลเมตร และพื้นที่ในเมือง จากสุวรรณภูมิเข้ามาถึงดอนเมือง ซึ่งพื้นที่นอกเมืองช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภานั้นได้สั่งการและมอบนโยบายให้ รฟท.เร่งรัด ดำเนินการ รฟท.ให้เรียบร้อยในเดือน ก.ย. 2564 เพื่อพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ทั้งหมดตามสัญญากำหนดในวันที่ 24 ต.ค. 2564

รฟท.ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ โดยปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่า 88% โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. การโยกย้ายผู้บุกรุกที่กีดขวางการก่อสร้าง ดำเนินการโยกย้ายแล้วเสร็จ 100% พร้อมส่งมอบ

2. การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท โดยได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว 634 สัญญา คิดเป็นมูลค่า 3,599 ล้านบาท เหลืออีก 103 แปลง มูลค่า 548 ล้านบาท โดยจะสามารถเข้าวางเงินได้ครบในเดือน ก.ค. 2564 เพื่อเข้าครอบครองพื้นที่ต่อไป โดยคาดจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ก่อนกำหนดส่งมอบพื้นที่

3. งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภคช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาแล้วเสร็จ 257 จุด และอยู่ระหว่างการรื้อย้าย 396 จุด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินงานเพื่อให้แล้วเสร็จทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ (คือภายในเดือน ก.ย. 2564) สำหรับท่อก๊าซพบว่าอยู่ในแนวขวาง

ส่วนท่อน้ำมันและท่อก๊าซกีดขวางบริเวณพื้นที่ก่อสร้างนั้นได้ตรวจสอบร่วมกัน โดยในส่วนของท่อน้ำมันที่มีอยู่ในพื้นที่แนวขนานกับรถไฟนั้นไม่จำเป็นต้องรื้อย้าย แต่จะมีการจ้างที่ปรึกษาคนกลางซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบยืนยันความปลอดภัย และให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อดำเนินการก่อสร้างและควบคุมภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับเอกชนคู่สัญญานั้น ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่ งานก่อสร้างถนน งานก่อสร้างสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักพนักงาน และงานเจาะสำรวจดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่ รฟท.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) อย่างเป็นทางการ

@เจรจา ซี.พี.เร่งก่อสร้าง โครงสร้างร่วมรถไฟไทย-จีน ช่วง “บางซื่อ-ดอนเมือง”

สำหรับพื้นที่ในเมือง ตั้งแต่สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 50 กม.นั้น ยังมีเวลาอีก 2 ปีในการส่งมอบหรือภายในเดือน ต.ค. 2566 นั้น นายชยธรรม์กล่าวว่า เนื่องจากช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งตามสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องเป็นผู้ก่อสร้าง โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ให้เจรจากับทางกลุ่ม ซี.พี.เพื่อให้เร่งก่อสร้างช่วงนี้ก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ซึ่งมีการลงนามก่อสร้างไป 10 สัญญาแล้ว

ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องทั้งอีอีซี รฟท. และเอกชน เร่งหารือในรายละเอียด และวางแผนร่วมกัน หากเป็นไปได้ รฟท.จะเปิดประมูลรถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 4-1 ช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. เพื่อให้ก่อสร้างพร้อมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2565

@พร้อมโอน “แอร์พอร์ตลิงก์” ต.ค. 64 บริการไม่สะดุด

ในส่วนการเข้าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) นั้น ปัจจุบันกลุ่ม ซี.พี.ได้นำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบสถานะด้านเทคนิคแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างออกแบบเพื่อปรับปรุงการให้บริการ และเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร นอกจากนี้ ยังเตรียมการปรับปรุงการให้บริการของสถานี ปรับปรุงการเดินรถไฟให้ทันสมัย ตรงเวลา และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดี มีความสะดวกสบาย โดยเอกชนคู่สัญญามีกำหนดเข้าบริหารโครงการในวันที่ 24 ต.ค. 2564 โดยไม่มีรอยต่อในการให้บริการแต่อย่างใด พร้อมชำระเงินค่าใช้สิทธิจำนวน 10,671 ล้านบาท ตามสัญญา

นายชยธรรม์กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทาง ซี.พี.ขอเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนการชำระเงินค่าใช้สิทธิ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ว่า เป็นเรื่องของ รฟท.และอีอีซี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเทคนิคระหว่างคู่สัญญาที่มีสิทธิ์เจรจาได้ เนื่องจากเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ที่รัฐและเอกชนเป็นพาร์ตเนอร์กัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ ทำให้โครงการสำเร็จเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดำเนินการไปตามเงื่อนไข ส่วนหากจะมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ก็ต้องเจรจา และหากตกลงกันได้ ไม่มีผลกระทบ ก็ทำเป็นแนบท้ายสัญญาได้ โดยโครงการต้องสำเร็จตามแผนแล้ว ได้เงินครบตามสัญญา ส่วนกระบวนการอยู่ที่คู่สัญญาเจรจากัน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น