“สุพัฒนพงษ์” วางเป้าหมายบันไดขั้นที่หนึ่ง 4 ปีหวังผลิตรถ ZEV ให้ได้ 225,000 คันในปี 2568 ก่อนก้าวสู่เป้าหมายปี 2573 ที่จะผลิตได้ 30% ของการผลินรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงสถานีชาร์จที่รองรับ การลงทุนแบตเตอรี่ รวมถึงไฟฟ้าที่ต้องเน้นพลังงานสะอาดเพื่อให้ครบวงจร หวังดันไทยสู่ประเทศแนวหน้าด้านพลังงานสะอาด
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) กล่าวในงานสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้า” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บอร์ดอีวีได้วางหมุดหมายระยะสั้นหรือบันไดขั้นที่ 1 ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์พลังงานสะอาด (Zero Emission Vehicle) หรือ ZEV ในประเทศช่วง 4 ปีแรกซึ่งเน้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไว้ที่ 225,000 คัน และวางเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2,000-4,000 แห่งภายในปี 2568 เพื่อให้ไทยสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายในปี 2573 ที่กำหนดการผลิตรถ ZEV ไว้ทั้งสิ้น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมดหรือ 720,000 คัน และมีสถานีจ่ายไฟ 12,000 แห่งเพื่อให้ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคตตามทิศทางของโลก
“เราวางหมุดหมายระยะสั้นก่อนกำหนด ZEV ไว้ 225,000 คัน หรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปัจจุบันก่อนที่เราจะไปสู่อีก 9 ปีข้างหน้าหรือปี 73 ซึ่งหากมองในแง่ของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของรถแล้วเป็นต้นทุนถึง 40% ซึ่งการผลิตในระยะสั้นที่วางไว้จะต้องมีแบตฯ ราว 20 กิกะวัตต์ ก็น่าจะเป็นสเกลที่จะดึงดูดการลงทุนได้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟแบบเร็ว และรวมไปถึงไฟฟ้าที่จะต้องตามมาด้วยพลังงานสะอาดที่ไม่ใช่ฟอสซิลเพื่อให้การพัฒนายานยนต์พลังงานสะอาดนั้นครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกัน กรณีแบตเตอรี่ที่มีอายุใช้งานเพียง 10 ปีได้มีการศึกษาว่ายังสามารถใช้เป็นที่กักเก็บพลังงาน (ESS) ได้ต่อ โดยสามารถนำไปใช้กับพลังงานสะอาดอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ โดยในช่วง 4 ปีจะมีการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้มีการหารือกับ 3 การไฟฟ้าที่จะต้องพัฒนาสายส่งเป็นสายส่งอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริด
“การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ได้วางเป้าหมายให้ทุกบริษัทประกาศเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดโลกร้อน ซึ่งขณะนี้ไทยเองก็ลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วราว 300 ล้านตัน คิดเป็นคาร์บอนเครดิตที่ขณะนี้ราคาปรับขึ้นไปสู่ 50 เหรียญต่อตัน อนาคตเราก็จะได้สิ่งนี้นับเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาทต่อปี นี่จึงเป็นเหตุให้เราทำไมสนใจเพราะเราอยู่ในประชาคมโลกและเรามีความพร้อมมากที่จะทำได้เพิ่มอีก” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว