xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” กลับลำสั่งเร่งประมูลสร้างสายสีแดงต่อขยาย 6.7 หมื่นล้าน ปรับ PPP เหลือแค่ระบบ O&M

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” สั่งปรับแผนลงทุนรถไฟสายสีแดงต่อขยาย 4 เส้นทางลดไซส์ PPP เหลือแค่ O&M ยอมรับมัดรวมโยธาจะล่าช้า สั่ง รฟท.แยกประมูลก่อสร้าง 6.7 หมื่นล้านตามมติ ครม.ภายในปีนี้ สร้างเสร็จปี 68 วิ่งสีแดงทะลุรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยายจำนวน 4 เส้นทางว่า ขณะนี้ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดดำเนินการประมูลก่อสร้างงานโยธาก่อน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้ รฟท.ดำเนินโครงการสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้รวดเร็วและสอดคล้องกับการเปิดเดินรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) สายสีแดงซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างศึกษานั้น จะเป็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในส่วนของงานเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance : O&M) ทั้งช่วงแรกและส่วนต่อขยาย ไม่รวมงานโยธา

ส่วนเงินลงทุนก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้นทางนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สามารถใช้เงินกู้ หรือกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะพิจารณา

“ผมหารือกับผู้ว่าฯ รฟท.ให้ไปดำเนินการ รูปแบบเดิมตามที่ ครม.อนุมัติให้ก่อสร้างงานโยธาก่อน เพราะการเอางานโยธาไปผูกไว้กับ O&M อาจทำให้โครงการยิ่งล่าช้า ซึ่งคาดว่าหาก รฟท.แยกงานโยธามาดำเนินการจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ และจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสามารถเปิดเดินรถสีแดงส่วนต่อขยายได้เลย เพราะรถไฟสายสีแดงช่วงแรกและส่วนต่อขยายเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น ระหว่างรอ PPP เอกชนเข้ามารับงาน O&M เดินรถสายสีแดงตลอดสาย ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงปี 2569 รฟท.จะสามารถให้บริการส่วนขยายได้ไปก่อน ประชาชนจะได้รับประโยชน์” นายศักดิ์สยามกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ขณะนี้สายสีแดงส่วนต่อขยายพร้อมดำเนินการ เนื่องจากได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว รวมถึง สบน.ได้เตรียมแผนก่อหนี้ไว้แล้ว

แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบาย รฟท. ศึกษาการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) รถไฟสายสีแดง ทั้งก่อสร้างงานโยธาและเดินรถ ซ่อมบำรุง (O&M) จึงต้องปรับแผนงานรอการศึกษา PPP ก่อน ขณะที่แนวคิด PPP ให้เอกชนลงทุน 100% ทั้งโยธา และ O&M เอกชนอาจรับภาระไม่ไหวอีกด้วย

โดยรถไฟสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ครม.อนุมัติเมื่อปี 2562

ส่วนสีแดงอ่อน (Missing Link ) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 2559 แต่เนื่องจากมีการปรับรูปแบบของการก่อสร้างช่วงสถานีจิตรลดา-พญาไท ที่จะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันคือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การที่ รฟท.จะประมูลก่อสร้างเองจะสามารถประสานแผนในการเปิดหน้าดินก่อสร้างครั้งเดียวเพื่อลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง

โดยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าพบ  รมว.คมนาคมเพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และการพัฒนาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่ง รมว.คมนาคมได้สั่ง รฟท.เร่งก่อสร้างงานโยธาและระบบรางส่วนต่อขยาย รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ก่อน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

ขณะที่เดือน ธ.ค. 2564 รฟท.จะจัดรถไฟดีเซลรางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างสถานีรังสิตไปถึงสถานีเชียงรากน้อย เพื่อรองรับการเดินทางไป ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตไปก่อน นอกจากนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ได้พิจารณาปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบม.ธรรมศาสตร์และทำแผนพัฒนาโครงข่ายถนนรอบพื้นที่รังสิตในอนาคตด้วย เพื่อให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม ส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับพื้นที่โดยรอบด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น