xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวงบกลาง568ล้านค่าเวรคืนไฮสปีด3สนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.อนุมัติงบกลางปี 64จำนวน 568 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนที่ดินโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม3สนามบิน ส่วนที่เพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาทจากกรอบเดิม โดยอีกส่วนให้ใช้งบปี65 ขณะที่ รฟท.พร้อมส่งมอบ”แอร์พอร์ตเรลลิงก์”ซี.พี.คู่สัญญา ต.ค.64 ตามเงื่อนไข

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 568 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเวนคืนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ (สกพอ.)

ซึ่งวงเงินที่ครม.อนุมัติในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก มติครม. เมื่อ 30 มีนาคม 2564 ได้รับทราบการขยายกรอบวงเงินค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฯ จากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นไม่เกิน 5,740 ล้านบาท จากเดิม 3,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,170 ล้านบาท ซึ่งในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ ให้ รฟท.ขอจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. วงเงิน จำนวน 580 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปีงบประมาณ 2564 ส่วนที่เหลือให้ สกพอ. โอนจากงบบูรณาการภายใต้แผนงานบูรณาการ EEC และ 2. วงเงินจำนวน 1,562 ล้านบาท ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณ ปี 2565

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม3สนามบินนี้เป็นการพัฒนาพื้นที่โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงพญาไท จำนวน 10 สถานี และโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภาจำนวน 5 สถานี รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินกิจการ และบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้รับความเสี่ยงเกี่ยวกับรายได้ค่าโดยสารและปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการทั้งหมด คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 1.47 แสนคนต่อวัน

ซึ่ง รฟท. จะส่งมอบพื้นที่โครงการช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) คู่สัญญา ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น