อาจารย์เปรมวดี บุญมี ประธานกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและที่มาที่ไป ก่อนจะได้เป็นตัวแทนเขตว่า นับตั้งแต่เกษียณมา ตัวเองได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด และด้วยความเป็นคนที่ชอบการปลูกต้นไม้ จึงได้ร่วมโครงการกับ กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เกี่ยวกับ “โคก หนอง นา โมเดล” พอเข้าร่วมโครงการได้ เราก็ลงมือทำกันเลยแบบไม่รู้ โดยเปิด YouTube ศึกษา แล้วลงมือขุดโดยไม่ได้รองบจากราชการ ต่อมา พช. ส่งเราไปอบรมที่ศูนย์จังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับครอบครัวและเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นกลับมาในพื้นที่ เหมือนได้ไปเติมพลังมา เราลงมือทำแบบคนมีไฟ เพราะเพิ่งกลับมาจากการอบรม อะไรที่ได้รับการอบรมมา เราลงมือทำกันทันที เริ่มด้วยปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นจากเดิม อาทิ พืชผักสวนครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากทำ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกให้ทำ
“หลังจากนั้น พช. มีโครงการมาให้เรา โดยให้กล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ โดยการหาผู้นำ 15 คน ซึ่งเราปฏิญาณตนว่า จะทำดีเพื่อพ่อหลวงและรัชกาลที่ 10 จึงเป็นจุดเริ่มตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากนั้นได้เข้าอบรมอีก 3 วัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และได้ดูตัวอย่างของ “โก่งธนูโมเดล” ต้นแบบของเรา ซึ่งเราลงมือทำกันแบบไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งศูนย์จังหวัดชลบุรี เข้ามาถ่ายทำไปออกรายการออกไปเผยแพร่ ทำให้มีคนรู้จักพื้นที่ของ ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ ต่อมาทาง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เราเป็นตัวแทนของจังหวัดไปกวดในระดับเขต แข่งกับ นครปฐม ปทุมธานี และ นนทบุรี ซึ่งเราชนะ และได้เป็นตัวแทนของเขตไปแข่งกับอีก 17 ตำบลทั่วไทย” อาจารย์เปรมวดี กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์เปรมวดี กล่าวถึงการเริ่มต้นว่า “ผ่านมา 3 เดือน จนถึงตอนนี้ จากที่เราไม่มีต้นทุนอะไรเลยสำหรับการเริ่มต้นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราเริ่มเปลี่ยนแนวการคิด ซึ่งเราเป็นประธาน จึงต้องเริ่มทำก่อน และทำเป็นต้นแบบให้กับ 15 คน ซึ่งทั้งหมดมองมาที่เราว่าเราจะทำอะไร ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เขาดู และชวนเขาทำ และทำกันมาเรื่อยๆ เมื่อคุณทำ เราจึงตามไปดู การได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของตำบล และเป็นตัวแทนของจังหวัดสมุทรปราการ เราจึงต้องคิดไปข้างหน้าแล้ว จะมัวคิดอยู่กับที่ไม่ได้เลย ตอนแรกเราเริ่มทำกันในแต่ละบ้าน และในหมู่บ้านของเรา เราจึงยังไม่ได้ออกไปช่วยหมู่บ้านอื่นมากนัก เมื่อเราได้เป็นตัวแทนของเขต เราต้องบอกเป้าหมายของเรากับคณะกรรมการว่าจะทำอะไร จึงบอกไปว่าถ้าเราได้เงินรางวัล เราจะไม่หยุดนิ่งเฉพาะหมู่บ้านตรงนี้ เราจะต้องทำให้ทุกหมู่บ้านในตำบลของเราดีขึ้น เพื่อผู้นำของแต่ละหมูบ้านจะได้เอาไปเผยแพร่ในถิ่นของตัวเอง อีกทั้งเราไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะในตำบลของเรา เพราะเราไปจด MOU กับหลายที่ในอำเภอบางบ่อ รวมถึงข้ามไปจังหวัดที่อยู่ติดกันอย่าง ฉะเชิงเทรา อีกด้วย”
“จุดเด่นของ ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ คือ เราทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราเปรียบเสมือนมวยใหม่ ไม่มีต้นทุนทางด้านภูมิประเทศหรือภูมิทัศน์ หรือสัมมาอาชีพ เพราะบางที่เขามีต้นทุนอยู่แล้ว อย่างบางที่มีพื้นฐานของการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว หรือ แตงกวา แต่ภูมิประเทศของเราเป็นการทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ มีราคาค่อนข้างแพง ที่ริมถนนของเรามีค่ามาก อย่างหมู่ 6 พอข้ามมอเตอร์เวย์ไป เนื้อที่จะมีมูลค่าประมาณไร่ละ 5-6 ล้านบาท ซึ่งจะต่างจากต่างจังหวัด คือภูมิสังคมและความเป็นอยู่เราต่างกัน ฉะนั้นต้นทุนของเราแทบไม่มีเลย”
ประธานกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตำบลคลองนิยมยาตรา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ตัวเอง รวมไปถึงผู้นำในกลุ่มของเราทั้ง 15 คน ซึ่งทุกคนล้วนมีแนวคิดเหมือนกันว่า ตัวเองได้เปลี่ยนไป รวมทั้งคนในบ้านและครอบครัวของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดยืนและจุดเด่นของเรา ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็น ถ้าเรามีโอกาสจะไปลงพื้นที่ทุกจุด คือเราจะช่วยเอามื้อกัน ไปให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยที่เราไม่มีงบประมาณส่วนไหนมาช่วยเหลือ พวกเราทำกันด้วยใจจริงๆ แต่ที่สำคัญ พช. ลงมาดูแลเรา ไม่ว่าจะอำเภอหรือจังหวัดก็ดี เปรียบเสมือนพี่เลี้ยง ซึ่งดูว่าเราทำอะไร และช่วยแนะแนวทางให้กับเรา”
สำหรับภารกิจต่างๆ ที่กลุ่ม “ตำบลคลองนิยมยาตรา” ได้ทำอย่างเห็นผลแล้ว อาทิ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน คือการนำถังมาเจาะก้นถัง แล้วนำไปฝังดิน มีฝาปิดด้านบนเพื่อควบคุมปริมาณอากาศและสภาวะแวดล้อมไม่ให้อากาศถ่ายเทออกไปจากตัวถังได้ง่าย เพื่อใช้สำหรับใส่ขยะที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น เศษอาหาร พืชผัก โดยใช้ วัสดุภาชนะเหลือใช้ เช่น ถังสี ถังพลาสติก ใช้แล้ว โดยขนาดของภาชนะขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในครัวเรือน หากมีมากก็ใช้ภาชนะ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม แล้วเจาะรูหรือตัดภาชนะที่ก้นถัง แล้วขุดหลุมขนาดความลึก 2 ใน 3 ส่วนของความสูงของภาชนะ นำภาชนะที่เตรียมไว้ไปใส่ในหลุมที่ขุด หากมีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นมากและมีพื้นที่เหลือ สามารถทำได้มากกว่า 1 จุด แล้วนำเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ใบไม้ และเศษหญ้า ที่เหลือมาเทใส่ในถังที่ฝังไว้ และปิดฝาภาชนะให้มิดชิด จุลินทรีย์ในดิน ไส้เดือนในดิน จะทำการย่อยเศษอาหารในภาชนะให้กลายเป็นปุ๋ย เมื่อปริมาณเศษอาหารถึงระดับเดียวกับพื้นดินที่ขุดไว้ ให้เอาดินกลบแล้วย้ายถังไปทำตามขั้นตอนเดิมที่จุดอื่นต่อไป ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ช่วยสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้คนในท้องถิ่นของตนเองได้มามีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และจากการทำถังเปียกของครัวเรือน จะช่วยลดรายจ่ายในการปลูกผักสวนครัว หรือประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอื่นๆ ของครอบครัวและชุมชนได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีจุดบริการการคัดแยกขยะทั่วไปตั้งแต่ต้นทาง ด้วยหลัก 3 R คือ
-Reduce ลดการใช้ มิได้หมายความว่า “ห้ามใช้” แต่ให้คิดก่อนใช้ ให้ใช้ตามความจำเป็นหลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลง
-Reuse การใช้ซ้ำ เป็นแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานแล้ว กลับมาใช้อีกให้คุ้มค่า เช่น การนำขวดพลาสติกมาทำภาชนะสำหรับปลูกผักสวนครัว
-Recycle การแปรรูปใหม่ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว สามารถรวบรวมขายให้ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปให้โรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้