ปัจจุบันมีผู้นำเข้าร่วมโครงการ 76 จังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 12,120,665 ครัวเรือน อีกทั้งมีหมู่บ้านที่สามารถเป็นต้นแบบในแต่ละอำเภอ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน ซึ่งมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 34,537 คน โดยประสานความร่วมมือสร้างเครือข่ายสนับสนุน และขยายผลในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันเมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า
โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์สู่พี่น้องประชาชนชาวไทย 76 จังหวัด รวมถึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมุ่งเน้นผู้นำต้องทำก่อนรณรงค์ เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน (อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกอาสาสมัครพัฒนาชุมชน คณะกรรมการพัฒนาสตรีหมู่บ้าน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น ฯลฯ) กลุ่ม องค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ รวมถึงส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน บูรณาการร่วมกัน เป็นต้นแบบการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหาร สร้างวิถีพอเพียง เพื่อความสุขสมบูรณ์แบบอย่างยั่งยืน สร้างกระแสการปลูกผักอย่างต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การปลูกพืชผักสวนครัวโดยมุ่งเน้นให้ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหารมีการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิด เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน จากการซื้อพืชผักสวนครัวมาบริโภคในระดับครัวเรือน หากคิดมูลค่าเพียง 50 บาท/วัน 12 ล้านครัวเรือน สามารถประหยัดเงินได้มากกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี ทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์แบ่งปัน มีการรณรงค์สร้างคลังอาหารชุมชนโดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ เกิดถนนกินได้ปลอดภัยไร้สารพิษ 288,883 แห่ง ปลูกผักร่วมกันในที่สาธารณประโยชน์ 281,597 แห่ง ปลูกผักสวนครัวจากศาสนสถานสู่ชุมชน 198,127 แห่ง เกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิตและแบ่งปันในชุมชน 512,332 ครั้ง แลกเปลี่ยนผลิตและเกิดการแบ่งปันระหว่างชุมชน 335,334 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2564) ซึ่งทำให้ครัวเรือน สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เกิดความสามัคคี มีวิถีพอเพียง มีความเกื้อกูลกัน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง
จากความสำเร็จของกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้ช่วยเหลือและผลักดันให้ประชาชนหันมาปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถช่วยให้ประชาชนในชุมชนจากหลายพื้นที่เกิดการพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน เป็นชุมชนที่มีความเข้มเเข็งอย่างยั่งยืน