นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยมี นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายไพบูลย์ สุจิรังกุล วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธา และคณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย, ม.ล.อภิชิต วุฒิชัย ร่วมในการประชุม ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (video conference) ด้วยโปรแกรม zoom cloud meeting
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวทางพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวไทยอย่างยั่งยืน โดยพระองค์ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” และภาพวาดฝีพระหัตถ์ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความสุข ความหวัง ความรัก และความสามัคคี ที่เกิดขึ้นในครอบครัว อันเป็นเครื่องยืนยันถึงน้ำพระราชหฤทัยและสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระองค์ โดยมีพระบรมราโชบายให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างพอเพียง
กรมการพัฒนาชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เป็นหัวใจหลักเชื่อมโยงในทุกภารกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเชื่อมั่นว่าปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่สามารถร่วมกันแก้ไขได้ โดยอาศัยการบูรณาการการทำงาน ร่วมกับทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ดึงศักยภาพจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนที่ยืดเยื้อยาวนาน เช่น ปัญหาหนี้สิน ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ทำกิน ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาเกี่ยวกับอาชีพ และการมีงานทำ เป็นต้น กลไกหลักคือการพัฒนาที่เริ่มจากตัวคน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จนเกิดแหล่งเรียนรู้ 32 แห่ง ผู้นำต้นแบบ 1,500 คน และเครือข่าย 22,500 คน และในปี 2564 การดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงใน 11,141 หมู่บ้าน ปัจจุบันโครงการ “โคก หนอง นา พช.” มีผู้สนใจเข้าสมัครแล้วกว่า 35,503 ครัวเรือน และจ้างงานสำหรับผู้ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 9,157 ราย และเกิดการพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่ประชาชนครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด ซึ่งการก้าวเข้ามาของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการบูรณาการกับกรมการพัฒนาชุมชน ต่อจากนี้ เชื่อว่าด้วยศักยภาพที่เชื่อมโครงข่ายการขนส่งมวลชนทุกภูมิภาค คู่กับสังคมไทยมาช้านาน เส้นทางสองข้างรางรถไฟ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิสังคมใด จะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์
นอกจากการพัฒนาพื้นที่เพื่อช่วยให้ผู้ยากไร้ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน สร้างอาชีพ สร้างผลผลิต ก่อเกิดรายได้ มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ผลพลอยได้อีกประการคือ เกิดความสวยงาม ในเส้นทางที่จะเล่าเรื่องราววิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชน ท้องถิ่น เกิด Landmark ที่จะช่วยส่งเสริมในธุรกิจการท่องเที่ยว และยังเกิดพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ชุมชนสองข้างทางรถไฟในอนาคตอีกด้วย
รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 เป็นดังหมุดหมายสำคัญที่กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนสร้างสรรค์ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกกิจกรรม โครงการมุ่งสนองพระราชปณิธาน และพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อสร้างสุขให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า และตอบโจทย์การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กุญแจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือการขับเคลื่อนผ่านกลไกการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือกลไก 3-5-7 ที่จะช่วยหนุนเสริมให้การขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของโลกได้ทั้ง 17 ข้อ โดยเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นแกนกลาง โดยการร่วมบูรณาการเพื่อเสริมกลไกเดิมของภาครัฐที่มีอยู่ ในพื้นที่ 3 ระดับเป็นอย่างน้อย คือ ระดับชุมชนหรือลุ่มน้ำ ระดับจังหวัดหรือภูมิภาค และระดับชาติ ภายใต้การมีส่วนร่วมของ 5 กลไกที่จะช่วยหนุนเสริมงานขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วย กลไกการประสานงานภาคีเครือข่าย กลไกแผนงานและยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการ กลไกการติดตามและประเมินผล กลไกการจัดการความรู้ อันเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติที่ต้องนำมาจัดทำเป็นตำราหรือคู่มือเฉพาะในแต่ละพื้นที่ และกลไกการสื่อสารสังคมให้รับรู้ ร่วมด้วยการบูรณาการของ 7 ภาคี คือ ภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ กฎหมาย รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ภาควิชาการและสถาบันการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน
สำหรับการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา” ของกรมการพัฒนาชุมชนนั้นมีนัยสำคัญที่มากกว่าการเกษตร แต่คือกระบวนการขับเคลื่อนอบรมบ่มเพาะจนเกิดการเปลี่ยนวิธีคิด (Mind Set) ให้ “ระเบิดจากข้างใน” ให้เป็นมนุษย์พอเพียง ที่สามารถจัดการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ด้วยทฤษฎีใหม่ด้านต่างๆ เพื่อสร้างความ “พอมี พอกิน” ให้แก่ทุกคน ซึ่งจากการดำเนินการอย่างจริงจังมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 รูปธรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในเชิงวิชาการ เราจึงมีทั้ง สื่อ/คู่มือ/หลักสูตร วิทยากร ครูพาทำ แหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค 76 จังหวัด ในเชิงการพัฒนาคนมากกว่า 3 หมื่นครัวเรือน เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และลดความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้จึงถือเป็นความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการร่วมจับมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการร่วมสร้างโมเดลในการพัฒนาพื้นที่ โดยหลักทฤษฎีใหม่ ที่กรมการพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่ายเชื่อมั่นว่าจะสามารถพลิกโฉมเส้นทางนำประโยชน์มาสู่ผู้ยากไร้ ผู้มีความตั้งใจจริงในพื้นที่ และบรรลุไปถึงการสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศร่วมกันทุกฝ่าย และที่สำคัญอีกอย่างคือ ยังเป็นการมอบโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในองค์กร ตลอดจนสหภาพแรงงานการรถไฟได้เป็นอย่างดีอีกด้วย“
ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า “ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น คือความพยายามไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้ง 17 ประการ และสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน ด้วยศักยภาพหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคมามากกว่าร้อยปี เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคทั้งอาเซียน และภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงเป็นส่วนสำคัญใน “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road) แบ่งเป็นเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt : One Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road : One Road) มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่าเส้นทางการคมนาคมล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างการยกระดับ พัฒนา ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีและเส้นทางนำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งคุณค่าของการเดินทางโดยรถไฟวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งมวลชน แต่ยังขยายรวมไปถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวตั้งแต่สถานีต้นทาง ระหว่างการเดินทาง ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
การพัฒนาตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ คือการพัฒนาที่อิงหลักการที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ดังที่สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาซ้ำซากในเรื่องดิน น้ำ ป่า ได้อย่างเห็นผลในหลากหลายพื้นที่ ฉะนั้น จึงสามารถต่อยอดมาสู่การออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสมเฉพาะของการรถไฟฯ ได้ ด้วยสมรรถนะขององค์การ ศักยภาพของบุคลากร และเครื่องมือต่างๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นได้ว่าในพื้นที่การดำเนินงานที่จะได้สำรวจคัดสรรเข้าร่วมโครงการในลำดับต่อไป จะเป็นต้นแบบทางด้านความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในระดับที่เหมาะสมกับชุมชน สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนได้อย่างแน่นอน
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มุ่งเน้นการดำเนินงานที่มากกว่าการบริการ โดยขยายภารกิจไปสู่การสร้างประโยชน์เชิงสังคม ตอบสนองนโยบายของรัฐในการพัฒนา ตัวอย่างโครงการดังกล่าว คือ โครงการเกษตรริมราง (รถไฟ) โดยได้แบ่งเนื้อที่สองข้างรางให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี การประชุมร่วมกันในครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีในการบูรณาการนำสรรพกำลัง มาช่วยกันเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนที่มีขอบเขตกว้างมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยมีระยะทางที่เปิดการเดินรถไฟรวมทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตรที่โยงใยทุกภูมิภาค ดังนั้น ภายในระยะ 1 เดือนต่อจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่สองข้างราง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แนวยาว โดยจะพิจารณาถึงความเหมาะสม หรือความพร้อม เพื่อจัดลำดับความสำคัญเข้าร่วมในโครงการฯ รวมถึงที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือนอกสถานีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม ทรัพยากร โดยจะร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการหนุนสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาคน ให้คนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อเป็นอีกต้นแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลต่อไป”