เอคเซนเชอร์ เปิดผลสำรวจ 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่องค์กรต้องรับมือช่วง 3 ปีข้างหน้า หลังเกิดโรคระบาด องค์กรต้องไม่รอช้าในการหานวัตกรรมเพื่อรับมือการทำงานในอนาคต แนะองค์กรเร่งนำดิจิทัลเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ตรงวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
น.ส.นิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เอคเซนเชอร์ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 6,200 รายในการจัดทำรายงาน “เอคเซนเชอร์ เทคโนโลยี วิชัน 2021” พบว่า 92% ของผู้บริหารระบุว่า องค์กรของตนกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยความเร่งด่วนและเร่งนำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ และ 91% ของผู้บริหารต่างเห็นตรงกันว่า การจะเจาะตลาดแห่งอนาคตนั้นองค์กรจะต้องเป็นผู้กำหนดวิถีด้วยตนเองว่าควรเป็นอย่างไร
การที่องค์กรจะกำหนดทิศทางแห่งอนาคตได้นั้นจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยยึดหลักสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือ ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี หมดยุคแห่งการเป็นผู้ที่ตามได้เร็วแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ผู้นำของวันข้างหน้า คือ ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ ประการที่สอง คือ ผู้นำจะไม่รอให้เกิดภาวะ New Normal แต่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา พัฒนาตามสภาวะความเป็นจริงใหม่โดยใช้แนวคิดและรูปแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ประการสุดท้าย คือ ผู้นำย่อมเป็นผู้ที่รับผิดชอบมากขึ้นในฐานะพลเมืองโลก โดยการออกแบบและนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างสิ่งดีๆ นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร เพื่อร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนและคำนึงถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
รายงานดังกล่าวได้ระบุถึงกระแสเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใน 5 แนวทางหลักที่องค์กรต่างๆ จะต้องรับมือในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.การจัดลำดับเชิงกลยุทธ์ พัฒนาสถาปัตยกรรมเพื่ออนาคต การแข่งขันของอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เป็นยุคที่ธุรกิจต่างๆ แข่งขันกันที่สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างทางไอที แต่การพัฒนาและวางแผนเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด หมายถึงการมองเทคโนโลยีในมุมที่ต่างออกไป โดยผสานกลยุทธ์ทางธุรกิจและเทคโนโลยีให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่ง 89% ของผู้บริหารเชื่อว่า ขีดความสามารถองค์กรในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและโอกาสตามแต่สถาปัตยกรรมไอทีของแต่ละองค์กร
2.การสร้างโลกคู่ขนาน แฝดเสมือนที่ชาญฉลาดและขยายตัวได้ตามต้องการ ผู้นำต่างกำลังสร้างคู่แฝดหรือโลกเสมือนแบบดิจิทัล มีทั้งโรงงาน ซัปพลายเชน วงจรชีวิตของสินค้า และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย โดยใช้ข้อมูลและระบบอัจฉริยะในการสร้างโลกจริงขึ้นมาบนดิจิทัลสเปซ เพื่อปลดล็อกศักยภาพแห่งโอกาสใหม่ให้องค์กรสามารถดำเนินการ ร่วมมือ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ 65% ของผู้บริหารในการสำรวจนี้มีความคาดหวังว่า การลงทุนขององค์กรในโลกดิจิทัลอีกใบจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงอีก 3 ปี ข้างหน้า
3.ทุกคนเก่งเทคโนโลยีได้ด้วยการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม พลังขีดความสามารถของผู้คนจะเปิดกว้างไปในทุกส่วนของธุรกิจ ทำให้องค์กรมีฐานรากแน่นสำหรับการวางกลยุทธ์ด้านนวัตกรรม ตอนนี้พนักงานทุกคนจากทุกฝ่ายสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แก้ไขจุดที่เป็นปัญหา และช่วยให้ธุรกิจก้าวทันต่อความต้องการใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ซึ่ง 88% ของผู้บริหารเชื่อว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมนั้นมีความสำคัญต่อการจุดประกายนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
4.ทำงานที่ใดก็ได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของรูปแบบการทำงานส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับขอบเขตขององค์กรให้กว้างขึ้น เมื่อคนทำงานสามารถ “ทำงานที่ใดก็ได้” จึงมีอิสระที่จะทำงานได้โดยไม่สะดุด ไม่ว่าจากที่บ้าน ที่ทำงานสนามบิน สำนักงานของพาร์ตเนอร์ หรือที่อื่นๆ ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ผู้นำองค์กรอาจทบทวนจุดมุ่งหมายของการทำงานในแต่ละสถานที่ใหม่ และมองโอกาสการคิดใหม่ในด้านธุรกิจเพื่อให้เข้ากับโลกการทำงานในรูปแบบใหม่ การสำรวจพบว่า 81% ของผู้บริหารยอมรับว่า องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมของตนจะเริ่มเปลี่ยนแนวการทำงานจาก "นำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ในการทำงาน" สู่การ "ทำงานที่ใดก็ได้"
และ 5.การรอดได้ด้วยความร่วมมือ ใช้ระบบที่หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ความต้องการระบบติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ระบบชำระเงินที่สะดวกราบรื่น ตลอดจนแนวทางใหม่ที่จะช่วยสร้างความเชื่อใจ ทำให้องค์กรหันมาใส่ใจกับสิ่งที่เคยถูกละเลยในระบบนิเวศที่มีมาของตน การมีระบบที่เอื้อให้เกิดทำงานร่วมกันหลายฝ่ายจะช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีขึ้น ปลดล็อกให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการเข้าสู่ตลาด กำหนดมาตรฐานใหม่ที่ช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรม 90% ของผู้บริหารที่สำรวจระบุว่า ระบบที่ทำงานร่วมกันหลายฝ่ายจะช่วยให้ระบบนิเวศพัฒนา สามารถยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีขึ้น พร้อมสร้างคุณค่าร่วมกับพันธมิตรขององค์กร
“การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นเหมือนกดปุ่มฟาสต์ฟอร์เวิร์ดไปสู่อนาคต หลายองค์กรปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในแบบใหม่เพื่อรักษาธุรกิจและชุมชนให้อยู่รอด และพัฒนาไปในแบบที่ไม่คิดว่าจะทำได้มาก่อน ในขณะที่มีอีกหลายองค์กรที่ประสบกับความจริงที่เจ็บปวด มีทั้งความไม่พร้อมและขาดพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการปรับองค์กรให้ได้อย่างรวดเร็ว”
ในรายงานฉบับนี้ยังมีหัวเรื่องว่าด้วย “ผู้นำที่เป็นที่ต้องการ : ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง” (Leaders Wanted : Masters of Change at a Moment of Truth) โดยชี้ให้เห็นในภาพกว้างว่าองค์กรชั้นนำต่างๆ ทำอย่างไรในการบีบร่นระยะเวลาการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) จากที่ต้องใช้เป็น 10 ปี ให้เกิดขึ้นได้ภายใน 1 หรือ 2 ปี
งานวิจัยของเอคเซนเชอร์พบว่า เมื่อองค์กรมีพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงจะปรับใช้และคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วในพริบตา ผู้นำก็สามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้องค์กรได้เร็วขึ้น โดยเร็วกว่าองค์กรที่ตามอยู่ถึง 5 เท่าในปัจจุบัน เทียบกับที่ก้าวหน้ากว่า 2 เท่าในช่วงปี 2015-2018 ผลที่เกิดขึ้น คือ บริษัทต่างแข่งขันกันเพื่อปรับตัวปรับบทบาทใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเอง เพื่อเป็นผู้กำหนดสภาวะความเป็นจริงแบบใหม่ที่พวกเขาต้องเผชิญ
ดังนั้น องค์กรที่ยังไม่สามารถปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลได้ และไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดเป้าหมายในการนำดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า องค์กรไม่จำเป็นต้องปรับตัวสู่ดิจิทัลทั้งหมด แต่ขอให้เริ่มจากการตั้งเป้าหมาย และกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และสามารถวัดผลได้ก่อน เช่น หากต้องการนำดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขายก็เริ่มคิดโซลูชันเข้ามาตอบโจทย์และลองประเมินผลดูว่าได้ผลดีขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญคือต้องตั้งใจทำให้เป้าหมายที่ทำชัดเจนตีโจทย์ให้แตก