ก่อนหน้าที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเข้ามาเป็นประเด็นหลักให้สังคมทั่วโลกเกิดความเปลี่ยนแปลง ปัญหาอย่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และปรากฏการณ์โลกร้อนได้กลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกองค์กรธุรกิจ และผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจ พร้อมให้ความสำคัญ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต่างต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ในขณะนี้ขาดความระมัดระวังในการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ในมุมของ ‘ดีแทค’ จึงออกมากระตุ้นให้องค์กรธุรกิจไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นธุรกิจทั่วโลกให้หันมาดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น (Responsible Business) เพื่อร่วมกันก้าวผ่านความท้าทายครั้งสำคัญนี้ไปด้วยกัน
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า ในยุคหลังโควิด-19 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม และธุรกิจใน 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน เริ่มจากปัญหาของอีโคโนมีออฟสเกล ที่จะได้เห็นความสนใจในการควบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค จนถึงการที่ธุรกิจ SMEs ที่เผชิญกับปัญหาหนี้สะสม ต้องการเงินลงทุน
‘การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของธุรกิจ ทำให้เกิดการควบรวมกิจการ รวมถึงการสร้างพันธมิตร และการจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาช่วย จะทำให้องค์กรธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง’
ถัดมาคือ การที่โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่กว้างขึ้น เนื่องจากในภาครัฐและเอกชนมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้งานอย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มเปราะบางยังไม่ได้รับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เพียงพอ สุดท้ายคือ ปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งผลกระทบตามแนวชายฝั่งและระบบนิเวศทางการเกษตร
‘ในส่วนนี้ ดีแทคมองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนจะช่วยให้การสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ง่าย และต้องปลอดภัย พร้อมๆ ไปกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2030’
ปัจจุบัน ดีแทคมีการจัดโครงการฝึกอบรมให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากบริการการสื่อสารได้สูงสุด รวมถึงโครงการ Safe Internet ที่เข้าไปสอนเด็กและเยาวชนรู้จักวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ และดีแทค เน็ตทำกิน ที่เข้าไปช่วยเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์
เพื่อให้รับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19 ทำให้ดีแทคได้กำหนดกรอบการทำงานอย่างมีความรับผิดชอบออกมาครอบคลุม 7 ส่วน ประกอบด้วย 1.การสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยหลักธรรมาภิบาล 2.การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล 3.การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน 4.การสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน 5.การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ 6.สิทธิมนุษยชน และ 7.การสร้างสุขภาวะในที่ทำงาน
โดยจะมี 3 ด้านที่ ‘ชารัด’ เห็นถึงแนวโน้มความปกติใหม่ พร้อมกับกำหนดกลยุทธ์ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจครอบคลุมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน และความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
***ภาคโทรคมนาคมใช้พลังงานไฟฟ้า 4% ของโลก
การดำเนินธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการขยายตัวของสถานีฐานเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการขยายสถานีฐานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 7% ในขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ราว 4.2% เท่านั้น
ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค ชี้ให้เห็นว่า การใช้งานดิจิทัลในอัตราเร่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ได้เข้ามาส่งผลให้การใช้งานพลังงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสูงขึ้นไปอีก
‘นับตั้งแต่ยุค 3G จนก้าวเข้าสู่ 5G ดีแทค ขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับในปี 2015 และส่งผลให้การใช้พลังงานไฟฟ้ากว่า 97% ของดีแทคถูกนำไปใช้ในการบริหารโครงข่ายต่างๆ
ข้อมูลจากทาง GSMA ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางทางโทรคมนาคม ระบุว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใช้พลังงานไฟฟ้าถึง 4% ของโลก แต่ในอีกมุมภาคโทรคมนาคมก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลดการเดินทาง จนถึงการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร
ที่ผ่านมา ดีแทคได้มีการทำโปรเจกต์ทดลองเพื่อลดการใช้พลังงาน อย่างการลดจำนวนชุมสาย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้จาก 6 แห่งเหลือเพียง 2 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการนำแผงโซลาร์เซลล์มาใช้งานร่วมในสถานีฐานเพื่อทดสอบความคุ้มทุน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ‘ทิ้งให้ดี’ เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกว่า 3.5 แสนกิโลกรัม และเริ่มนำ IoT เข้าไปให้บริการโซลูชันในการประหยัดพลังงานร่วมกับพันธมิตรอย่างอาซีฟาในกลุ่มโรงงานผลิตต่างๆ ด้วย
***ใช้เครื่องมือดิจิทัลส่งมอบบริการ
การทำงานร่วมกับพันธมิตร และคู่ค้า กลายเป็นอีกจุดที่ดีแทคมีการปรับตัวในช่วงที่ภาครัฐประกาศมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะด้วยการเป็นธุรกิจบริการที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ทำให้ดีแทคเร่งแผนการนำเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยในการให้บริการลูกค้า
ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานขายดีแทค ระบุว่า ปัจจุบันลูกค้าดีแทคเติมเงินราว 2 ใน 3 ใช้การเติมเงินผ่าน dtac app แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับคู่ค้ากว่า 7 หมื่นรายที่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน dtac One
‘ปัจจุบัน พนักงานของดีแทคกว่า 95% สามารถทำงานจากนอกสำนักงานได้ และยังสามารถรักษามาตรฐานในการให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับแผนกระจายสินค้า และจุดบริการตามพื้นที่การใช้งานของลูกค้าจากข้อมูลที่มี’
ขณะเดียวกัน ดีแทคยังให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการกำหนดมาตรฐานเข้มงวดในการทำงานกับคู่ค้า ครอบคลุมมิติด้านสิทธิแรงงานและข้อมูลส่วนบุคคล โดยประกาศภารกิจพิชิต 0 คือ จะไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการทำงานในซัปพลายเชนของดีแทค รวมทั้งไม่มีการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
***สร้างความมั่นใจในข้อมูลส่วนบุคคล
จากผลสำรวจของ Cisco พบว่า ผู้บริโภคกว่า 48% ต่างรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ดีพอ โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะไม่รู้ว่าองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้นนำข้อมูลไปใช้ในลักษณะใดบ้าง
มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรดีแทค ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องข้อส่วนบุคคล ในประเด็นอย่าง 1.ข้อมูลถูกนำไปใช้โดยไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ 2.ข้อมูลไม่ถูกทำลายอย่างถูกต้อง และ 3.ข้อมูลถูกนำไปแชร์กับหน่วยงานอื่น
เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากต่างต้องพึ่งพาข้อมูลมากขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วยในบางกรณี ซึ่งการกำหนดมาตรฐานและความคาดหวังอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดียิ่งขึ้นให้แก้ผู้บริโภคว่าข้อมูลของพวกเขาถูกใช้งานอย่างไร
‘การทำ Data integrity หรือการตระหนักถึงสิทธิ บทบาท หน้าที่ของเจ้าของข้อมูล และผู้ควบคุมข้อมูลจะกลายเป็น New Normal ของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรับกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะประกาศใช้’
ที่ผ่านมา ดีแทคได้ให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเป็นอันดับต้นๆ โดยมีการกำหนดกรอบการทำงานในการได้มา จัดเก็บ และใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคเป็นสำคัญ
จะเห็นได้ว่า จากแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของดีแทค ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้แก่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่ต้องคำนึงถึงสังคม และธรรมชาติ ไปพร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืน