เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน เร่งแผนงานตาม AEC Blueprint ทบทวนการค้าสินค้าให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าปัจจุบัน ปรับปรุงการเปิดตลาด การเคลื่อนย้ายบุคคล พร้อมดันแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ห้ามใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี ห้ามกีดกันสินค้าจำเป็น เร่งเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจดิจิทัล
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/52 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 8-10 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัดการทำงานตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) เช่น การทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) เพื่อรองรับรูปแบบการค้าปัจจุบันและลดอุปสรรคมากขึ้น การปรับปรุงตารางข้อผูกพันการเปิดตลาด การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาให้ภาคเอกชนและนักลงทุนเข้าใจง่ายและเป็นรูปแบบเดียวกัน และเตรียมการประชุมหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ แคนาดา และอินเดีย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจสำคัญประจำปี 2564 (PED) ที่บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนผลักดัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน จำนวน 13 ประเด็น เช่น การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM) ของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 การหารือจัดทำเอกสารอ้างอิงเพื่อนำไปสู่การประกาศเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ช่วงปลายปี เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ได้ติดตามการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ เช่น การจัดตั้งคณะผู้พิจารณาอิสระเพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือไกล่เกลี่ยปัญหามาตรการที่มิใช่ภาษี (NTM) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การพิจารณาขยายบัญชีสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิด-19 เพิ่มเติมจาก ยา และเวชภัณฑ์ ไปยังสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการ
สำหรับไฮไลต์ของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือประเด็นใหม่ ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัว เช่น 1.การปรับปรุงแนวทางเพื่อส่งเสริมให้สินค้าและบริการของอาเซียนมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (GVC) มากขึ้น โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ 2.การเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในภูมิภาคตามแนวโน้มของโลก โดยไทยได้เสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่อาเซียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ 3.การจัดทำแผนงานระยะสั้นและกลางเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค (แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระยะยาว
การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2563 มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนประเมินว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจในภูมิภาคมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะกลับมาเติบโตในอัตรา 4.4% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2565