xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-อียูเห็นพ้องเร่งทำ FTA หนุนปฏิรูป WTO ใช้ CL วัคซีนโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” หารือทูตอียูประจำประเทศไทย เห็นพ้องทำ FTA เผยเจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เสนอให้รัฐบาลแต่ละฝ่ายเห็นชอบ ก่อนเริ่มการเจรจา คาดภายในปีนี้รู้ผล เริ่มเจรจาปีหน้า พร้อมเห็นชอบการปฏิรูป WTO ใช้ CL วัคซีนเพื่อให้ทุกประเทศเข้าถึงได้ สบช่องชวนร่วมงานเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับผู้ประกอบการไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายปีร์กะ ตาปิโอละ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ไทยและอียูเห็นตรงกันที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกรอบการเจรจา ซึ่งระดับเจ้าหน้าที่กำลังเร่งหารือทำเอกสารความคาดหวังร่วมกัน เพื่อใช้เป็นต้นร่างในการนำไปสู่การขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ทั้งในส่วนของไทย และรัฐบาลของอียู เพื่อเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไป

“การหารือครั้งนี้ อียูคาดหวังว่าไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของอาเซียนที่ทำ FTA กับอียู โดย 2 ประเทศแรก คือ เวียดนาม กับสิงคโปร์ ถ้ามีการทำ FTA ไทยกับอียูเกิดขึ้นจริง และมีผลบังคับใช้ ไทยจะได้รับประโยชน์เรื่องการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะการค้าไทยกับอียูถือว่าสูงมาก คิดเป็น 8% ของการค้าไทยกับโลก” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ไทยและอียูยังมีความเห็นร่วมกันในการใช้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าในระบบพหุภาคี และจะต้องเร่งเรื่องการปฏิรูป WTO ให้มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อมาพิจารณาข้อพิพาทให้ได้โดยเร็ว เร่งสรุปการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง รวมทั้งเห็นร่วมกันในการส่งเสริมการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งเห็นตรงกันในเรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (CL) วัคซีน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยจะดำเนินการเจรจาใน WTO ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่รัฐมนตรี WTO ในวันที่ 30 พ.ย. 2564 เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ไทยได้ขอให้ท่านทูตเชิญภาคเอกชนของอียูเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching - OBM) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เช่น สเปน เดนมาร์ก อิตาลี เช็ก เป็นต้น โดยไทยจะจัดงานแสดงสินค้าหลายกลุ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เอกสารความคาดหวังที่จะนำไปสู่การเจรจาทำ FTA จะครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายสนใจ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นก่อนการเจรจาจริงว่าใครสนใจในเรื่องอะไรบ้าง ถือเป็นความคาดหวังที่จะให้มีในการเจรจาทำ FTA แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็ต้องเจรจากันอีก โดยในส่วนของไทยจะต้องเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบก่อนการเจรจา ทางอียูก็เช่นเดียวกัน และตั้งใจว่าภายในปีนี้รัฐบาลจะให้ความเห็นชอบทั้งสองฝ่าย และเริ่มต้นการเจรจาได้ปีหน้า

อียู (27 ประเทศ) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยรองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในปี 2563 มีมูลค่าการค้า 33,133.90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,032,700 ล้านบาท คิดเป็น 7.56% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 17,637.14 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 545,900 ล้านบาท และนำเข้าจากอียู 15,496.77 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 486,800 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 12,879.86 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 388,300 ล้านบาท เพิ่ม 10.95% โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 77,291.38 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 218,400 ล้านบาท เพิ่ม 17.98% และนำเข้าจากอียูมูลค่า 5,588.48 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 169,800 ล้านบาท เพิ่ม 2.94% สินค้าส่งออกหลักของไทยไปอียู คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา ไก่แปรรูป และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น