xs
xsm
sm
md
lg

เอเปกเร่งฟื้นเศรษฐกิจสู้โควิด-19 ห้ามกีดกันสินค้าจำเป็น-หนุนเข้าถึงวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 4-5 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรัฐมนตรีการค้าของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ซึ่งเป็นกลุ่มภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปก และเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ผ่านระบบการประชุมทางไกลเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน ร่วมกันทำงานเพื่อฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้กลับมาขยายตัว และเติบโตได้อย่างยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด-19

ในการประชุมครั้งนี้ มีนายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทีมงานคณะเจรจาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


โชว์แนวทางปรับตัวสู้วิกฤตโควิด-19

สำหรับสถานที่ประชุมของไทยได้ใช้ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 ตั้งอยู่ที่สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยการประชุมวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันแรก เริ่มต้นขึ้นในเวลา 17.30-19.30 น. (เวลาประเทศไทย)

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กลุ่มที่ 2 การรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มที่ 3 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 โดยไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 เรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

นายจุรินทร์กล่าวในช่วงการประชุมว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในทุกๆ ระดับ โดยเฉพาะธุรกิจระดับชุมชน วิสาหกิจ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการกักตัวที่ยาวนาน ส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค

“ไทยได้รับมือกับวิกฤตโควิด-19 ด้วยการใช้โมเดลการค้ายุคใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสให้ SMEs และ Micro SMEs โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ”


หนุนการกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในประเด็นการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งถูกตัดขาดไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นายจุรินทร์ได้เสนอและผลักดันให้เอเปกกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 โดยระบุว่า ไทยถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก และยังสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจเอเปกกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางในภูมิภาคเอเปก ส่วนไทยมีแผนที่จะเปิดพรมแดนอีกครั้งสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยเริ่มภายใต้แผนงาน ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่จะถึงนี้

สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็น

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ในการประชุมได้ย้ำในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน และสินค้าจำเป็นอื่นๆ โดยต้องขจัดข้อจำกัดในการส่งออก และสนับสนุนภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ที่จะช่วยให้สามารถขนส่งวัคซีน เวชภัณฑ์ได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วในช่วงวิกฤต และต้องยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้ารายการยา และเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งไทยก็ได้ดำเนินการไปแล้ว และทุกประเทศจะต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ รวมทั้งต้องสนับสนุนการวิจัย และการพัฒนา และการผลิตวัคซีนเพื่อให้มีคุณภาพสูงสุด และมีการกระจายที่เพียงพอทั่วประเทศ

“ไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ทั่วถึงโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมทั้งเพื่อกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาคอีกครั้ง”

นอกจากนี้ ในการฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลังโควิด-19 ไทยส่งเสริมการค้าและความยั่งยืน โดยสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในบริบทของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภาคเอกชนเห็นด้วยทำ FTA เอเปก

ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปก กับภาคเอกชนเอเปก ยังสนับสนุนการเพิ่มความร่วมมือในกรอบเอเปกให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยต้องการให้มีการพัฒนาไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเปก (FTAAP) ต่อไปในอนาคต


ชงแนวทางฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19

หลังจากจบการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย. 2564 รัฐมนตรีการค้าเอเปกได้นัดประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าต่อในวันที่ 5 มิ.ย. 2564 ซึ่งเริ่มต้นในเวลา 17.30 น. มีกำหนดเสร็จสิ้นในเวลา 21.00 น. แต่การประชุมมีความเข้มข้น และมีการหารือในสาระสำคัญหลายๆ ประเด็น ทำให้การประชุมต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป และหารือกันเสร็จในเวลาประมาณ 22.00 น. (เวลาประเทศไทย)

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าเอเปกครั้งนี้ได้แสดงความยินดีและขอบคุณนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สําคัญ และได้ใช้โอกาสนี้นําเสนอมุมมองของไทยเกี่ยวกับนโยบายทางการค้าที่จะช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางของเอเปกในการเสริมสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยประการที่หนึ่ง ไทยยืนยันสนับสนุนการดําเนินงานตามปฏิญญาว่าด้วยการอํานวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าจําเป็นที่ได้รับการรับรองโดยเอเปกเมื่อปีที่แล้ว โดยเน้นว่ามาตรการจํากัดการส่งออกควรสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และจะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า

ประการที่สอง ไทยเร่งดําเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการอํานวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของวัคซีนและสินค้าจําเป็น โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว สําหรับระบบพิธีการศุลกากร เพื่ออํานวยความสะดวกการค้าข้ามพรมแดน

ประการที่สาม รัฐบาลไทยกําลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน เพราะตระหนักถึงความสําคัญของแถลงการณ์เอเปก เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 และสินค้ายาอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของเอเปกและภูมิภาคอื่น

ประการที่สี่ ไทยตระหนักถึงความสําคัญของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยให้ความสําคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ

ประการที่ห้า ไทยสนับสนุนเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือ Compulsory licensing - CL กับวัคซีน เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและรักษาชีวิตทุกคน

สนับสนุน WTO ช่วยเข้าถึงวัคซีน

นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐมนตรีการค้าเอเปกยังได้ประชุมร่วมกับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ WTO โดยไทยเห็นด้วยกับการที่ WTO ได้มีการหารือกันที่เจนีวาเกี่ยวกับการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนโควิด-19 เพราะจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน และยังสนับสนุนบทบาทของ WTO ในการเร่งการผลิตของโลกและห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 เพราะไทยให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงวัคซีนรักษาโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

เร่งเอเปกมีบทบาทผลักดันประเด็นใน WTO

สำหรับการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 หรือ MC12 นายจุรินทร์ได้เสนอแนะในที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกว่า ที่ผ่านมาเอเปกเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ ได้มีบทบาทในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการเจรจาภายใต้ WTO มาโดยตลอด ในการนี้ ไทยเห็นว่าเอเปกจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงผลักดันทางการเมืองผ่านแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปก เพื่อสนับสนุนการเจรจาภายใต้ WTO โดยไทยจะสานต่อการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในการประชุม MC12 ต่อไป

ส่วนการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 เห็นว่าควรมีเป้าหมายในการบรรลุข้อมติในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสรุปผลเจรจาเรื่องกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมงภายในเดือน ก.ค. 2564, การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพื่อฟื้นฟูระบบการระงับข้อพิพาทของ WTO ให้กลับมาทำงานอย่างสมบูรณ์, การต่ออายุเป็นการชั่วคราว (Moratorium) การยกเว้นการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้มิได้มีการละเมิดความตกลงทริปส์ และการยกเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขอให้มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการจำกัดและลดการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าในภาคเกษตร การขับเคลื่อนแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิรูป WTO


ปิดฉากประชุมเคาะ 3 แถลงการณ์

ทั้งนี้ หลังจากการประชุมมาอย่างยาวนาน จนจบการประชุมเมื่อเวลา 22.15 น. (เวลาประเทศไทย) รัฐมนตรีการค้าเอเปกได้สรุปออกแถลงการณ์ร่วมจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าประจำปี 2564 มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ คือ 1. ใช้การค้าเป็นกลไกสำคัญในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ 2. สนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี และ 3. ร่วมกันผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งในเอเปก

ฉบับที่ 2 แถลงการณ์เอเปก เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าวัคซีนโควิด-19 และสินค้าจำเป็น

ฉบับที่ 3 แถลงการณ์เอเปก เรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น เน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่การผลิต

เป็นการปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ที่มีจุดมุ่งหมายตรงเป้า ชัดเจน และสาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นไปตามข้อเสนอของไทยที่มุ่งห้ามจำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็น สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากวิกฤตโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น