นายกฯ เปิดทำเนียบต้อนรับ ทูตชิลี มุ่งสานต่อความสัมพันธ์ทั้งสองชาติ ส่งเสริม FTA เพื่อลดข้อจำกัด และเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างกัน
วันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายคริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต (H.E. Mr. Christian Rehren Bargetto) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแข็งขัน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยไทยมุ่งหวังที่จะกระชับและขยายความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าร่วมกันต่อไป ซึ่งในปี 2565 ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ชิลี จะครบรอบ 60 ปี พร้อมฝากความปรารถนาดีไปยัง นายเซบัสเตียน ปิญเญรา ประธานาธิบดีชิลี รวมทั้งแสดงความยินดีกับความสำเร็จของชิลีในการเป็นประธานกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance-PA) ซึ่งสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการส่งเสริมการค้าเสรี
เอกอัครราชทูตฯ กล่าวยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งในไทยตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งรัฐบาลไทยและภาคส่วนต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกประเทศ ในการดำเนินนโยบาย และแนวทางแก้ไขปัญหาและส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมชื่นชมแนวทางการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Phuket Sandbox ที่จะสามารถเป็นแนวทางในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมั่นว่า จะเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่นๆ ในไทยได้เช่นกัน พร้อมยืนยันว่า แม้จะพ้นจากหน้าที่ไปแล้ว จะยังคงสานต่อความร่วมมือระหว่างไทย-ชิลี อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือผ่านกลไกทวิภาคี นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การค้าของไทย-ชิลี ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากชิลีถือเป็นอีกหนึ่งประตูทางการค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยจะส่งเสริม FTA ไทย-ชิลี ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นด้วย เพราะจะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและสร้างความหลากหลายของประเภทสินค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางเพื่อมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของรัฐบาลไทยที่มุ่งขยายการลงทุนในมิติใหม่ๆ ในสาขาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน ตามหลัก BCG โมเดล และการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งความร่วมมือด้าน Startup ระหว่างสำนักนวัตกรรมแห่งชาติของไทยและสำนักงานพัฒนาการผลิตแห่งชิลี (Chilean Production Development Agency-CORFO) เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมทางการค้าร่วมกัน ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้สนับสนุนให้ไทยมีความร่วมมือกับชิลีในเเผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ชิลี ซึ่งมีการส่งเสริมการปลูกและธุรกิจการเกษตรสำหรับสินค้าพืชคีนัวในไทยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเอกอัครราชทูตฯ สนใจที่จะมีความร่วมมือด้านการประมงกับไทยด้วย
ในส่วนของความร่วมมือทวิภาคี รวมถึงการพัฒนาในกรอบอาเซียน ประเทศไทยสนับสนุนนโยบายของชิลีในการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนภายใต้กลุ่ม กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) และ เวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออก กับละตินอเมริกา (Forum for East Asia :FEALAC) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกาให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากยิ่งขึ้นในสาขาที่แต่ละประเทศมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีเช่นกัน