“สามารถ” ผนึก “หมอวรงค์” และสาวิทย์ชำแหละประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน 1.28 แสนล้าน ยื่น ”นายกฯ” 10 มิ.ย.ตรวจสอบทบทวนประมูล หมอวรงค์ซัดเขียน TOR ล็อกให้รับเหมารายใหญ่ 5 ราย กีดกันขนาดกลางและต่างชาติที่มีเทคนิคสูง
วันนี้ (9 มิ.ย. 2564) สถาบันทิศทางไทย ได้จัดเวทีเสวนา ประมูลรถไฟทางคู่ บทพิสูจน์ นายกฯ เดินหน้าต่อต้านทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ? โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยมีดร.เวทิน ชาติกุล ผอ.สถาบันทิศทางไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสรุปว่า ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้จะไปยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาทบทวนการประมูลโครงการนี้และตรวจสอบความไม่ถูกต้องในการประมูลเพื่อประโยชน์ต่อประเทศ และเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อรัฐบาล
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เปิดเผยว่า การประมูลโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 2 สาย ได้แก่ สายเหนือช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประมูลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ส่วนสายอีสานช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นการประมูลที่สร้างความกังขาและประหลาดใจอย่างมาก เนื่องจากราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉียดฉิว
โดยสายเหนือราคากลาง 72,918 ล้านบาท ผลราคาที่ประมูล 72,858 ล้านบาท ลดลงเพียง 60 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% เท่านั้น ส่วนสายอีสาน ราคากลาง 55,456 ล้านบาท ผลราคาประมูลที่ 55,410 ล้านบาท ลดลงแค่ 46 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็น 0.08% เท่ากัน
ซึ่งมีข้อประหลาดใจคือ 1. การประมูลสายเหนือ แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ส่วนสายอีสานแบ่งออกเป็น 2 สัญญา รวมเป็น 5 สัญญา ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้รับเหมาขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าประมูลได้พอดี และชนะการประมูลทั้ง 5 ราย
2. ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเท่ากันคือ 0.08% ทั้ง 2 สาย อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นการลดราคาที่น้อยมากสำหรับวงเงินก่อสร้าง 5-7 หมื่นล้านบาทที่ลดราคาแค่ 60 ล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กม. ในปี 2560 มีราคากลาง 36,021 ล้านบาท ราคาที่ได้จากการประมูล 33,982 ล้านบาท นั่นคือประหยัดได้มากถึง 2,039 ล้านบาท คิดเป็น 5.66% ต่างกับการประมูลครั้งนี้ที่ประหยัดลงแค่ 0.08% ที่ถือว่าน้อยมากๆ
โดยการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้เมื่อปี 2560 ที่ประหยัดเงินได้มากถึง 2 พันล้านบาทเกิดจากที่ตนเองได้ทักท้วงไปที่ รฟท. ก่อนเปิดประมูล โดยเสนอให้ปรับ TOR ที่รฟท.เคยใช้ประมูลรถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ผลประมูลออกมาใกล้เคียงกับราคากลางมาก คือต่ำกว่าราคากลางเพียง 0.75% เท่านั้น
ซึ่งพบว่าเกิดจาก TOR ไม่แบ่งย่อย ทำให้ค่าก่อสร้างแต่ละสัญญามีมูลค่าสูง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟไม่น้อยกว่า 15% ของค่าก่อสร้างแต่ละสัญญา ซึ่งเป็นการล็อกให้เฉพาะผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางเข้าร่วมประมูลไม่ได้
นอกจากนี้ยังเสนอให้แยกประมูลสัญญางานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา ซึ่งจากเดิมที่ รฟท.รวมงานโยธา และระบบอาณัติสัญญาณ พบว่าอาจจะเปิดโอกาสให้ล็อกสเปกได้เนื่องจากผู้รับเหมาจะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณ การแยกสัญญาจะป้องกันการล็อกสเปก และทำให้มูลค่าโครงการแต่ละสัญญาลดน้อยลง
หลังทักท้วง รถไฟสายใต้ที่เดิมแบ่งเป็น 3 สัญญา มูลค่าแต่ละสัญญาสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปรับเป็น 5 สัญญา มูลค่าเหลือ 6,000-8,000 ล้านบาทในแต่ละสัญญา และกำหนดผลงานเหลือ 10% ของค่าก่อสร้างแต่ละสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางสามารถเข้าประมูลได้ เพราะ 10% ของ 8,000 ล้านบาท ก็คือ 800 ล้านบาท
สาเหตุที่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการ กำกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปหรือซูเปอร์บอร์จัดซื้อจัดจ้าง โดยมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน
ซึ่ง รฟท.ควรใช้กติกากำหนด TOR เป็นมาตรฐานในการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน แต่เหตุใดจึงกลับไปใช้วิธีเดิม
ซึ่งการรวมงานเป็นสัญญาใหญ่ มูลค่าสูง ผู้รับเหมาขนาดใหญ่เท่านั้นที่ยื่นประมูลได้ ส่วนผู้รับเหมาขนาดกลางจะเข้าร่วมได้จะต้องไปจับมือกับรายใหญ่เป็นกิจการร่วมค้า ซึ่งผู้รับเหมารายใหญ่มักปฏิเสธรับเหมาขนาดกลาง เพราะ 1. ไม่ต้องการแบ่งเงินให้ 2. ไม่ต้องการแบ่งผลงานให้ เพราะจะทำให้ผู้รับเหมาขนาดกลางจะกลายเป็นขนาดใหญ่ได้ในอนาคต และกลายเป็นคู่แข่ง จึงต้องการแบ่งงานในลักษณะจ้างเป็นผู้รับเหมาช่วงมากกว่า
ดร.สามารถกล่าวว่า หาก รฟท.ใช้ TOR มาตรฐานเหมือนรถไฟทางคู่สายใต้ ผลประมูลราคาอาจจะต่ำกว่านี้ ประหยัดเงินได้อย่างน้อย 5.7% เทียบจากวงเงิน 2 โครงการ ที่ 128,374 ล้านบาท คิดเป็นเงินประหยัดได้ถึง 7,216 ล้านบาท น่าเสียดายในการเสียโอกาสนำเม็ดเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนได้อีกมาก
@“หมอวรงค์” ซัดเขียน TOR ล็อกให้รับเหมารายใหญ่ 5 ราย
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกอย่างอยู่ที่เจตนา หากเจตนาบริสุทธิ์ ทุกคนจะไม่สงสัยแน่นอน แต่ตัวเลขประมูลลดราคาเพียง 0.08% เท่ากันทุกอย่าง เจตนาไม่บริสุทธิ์
ย้อนไปดู TOR ประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ มี 6 อุโมงค์ ระยะทางรวมกัน 13 กม. คำถามคือ มีบริษัทไทยที่เจาะอุโมงค์หินที่เชี่ยวชาญหรือไม่ คำตอบคือไม่มี รฟท.จึงกำหนดให้ใช้ประสบการณ์ เจาะอุโมงค์ใต้ดินได้ เจาะอุโมงค์ท่อประปา ไฟฟ้าก็ได้ แต่คำถามคือ เจาะอุโมงค์ดิน กับอุโมงค์หินไม่เหมือนกัน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ
@ เทคโนโลยีเจาะภูเขาหิน บริษัทไทยยังไม่มีใครทำได้
ได้ข้อมูลว่า มีบริษัทต่างชาติที่มีประสบการณ์ทำอุโมงค์รถไฟในหลายประเทศที่พัฒนา ทราบเรื่องการเจาะภูเขาหิน ทำอุโมงค์รถไฟ ซึ่งตอนแรก TOR ไม่ได้กำหนดว่าจะให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้หรือไม่ แต่เมื่อรับเหมายักษ์ใหญ่รู้ว่าจะมีบริษัทต่างชาติเข้าประมูล จึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์และมีคนในพื้นที่เสนอว่า การก่อสร้างใดๆ ขอให้เป็นบริษัทคนไทย เป็นที่มาของ TOR ไม่ให้ต่างชาติร่วม ทั้งที่เรื่องเทคนิคควรเป็นข้อเสนอของบริษัท ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ต่อมาปรับเป็นให้กิจการร่วมค้าได้ แต่แกนนำต้องเป็นบริษัทคนไทยเท่านั้น
ข้อสังเกตคือ บริษัทรับเหมาขนาดกลางไม่มีใครกล้าเป็นแกนนำ และนำบริษัทต่างชาติมาร่วมมือ เพราะถูกล็อกไว้โดยบริษัทรายใหญ่หรือ 5 เสืออยู่แล้ว “การกำหนดแบบนี้จะมีกี่รายที่เข้าเงื่อนไข ทั้งประเทศมีเพียง 5 ราย“
@ แฉมีขายเอกสารประมูลล่วงหน้า 1 ปี ไปถอดแบบก่อน
ส่วนข้อกำหนดที่ให้เวลาทำข้อเสนอ 60 วันนั้นไม่เพียงพอกับโครงการที่มีมูลค่า 70,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาไม่สามารถถอดแบบได้ทัน โดยขายเอกสารประมูลเดือนมีนาคม ยื่นประมูลเดือนพฤษภาคม ดังนั้น จึงเกิดการใช้วิธีซื้อฝิ่น หรือซื้อแบบล่วงหน้า เพื่อให้ได้แบบมาก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายซื้อเอกสารประมูลล่วงหน้าประมาณ 1 ปี ประมาณ 11.5 ล้านบาท ซึ่งคนในวงการรู้กันหมด
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อวันที่ 16 พ.ค. เรื่องปราบโกง ปราบทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ หลังประกาศก็มีการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ในฐานะที่ตนเป็นประธานสหภาพแรงงาน รฟท.ด้วย หน้าที่หนึ่ง ก็ได้มีการตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ซึ่งในการประมูลรถไฟทางคู่นั้น มีกระบวนร่าง TOR มีการรับฟังความคิดเห็น ปรับหลายครั้ง แต่ผลออกมาก็พบว่าราคาต่ำกว่าราคากลาง น้อยมาก และต่ำ 0.08% เท่ากันทั้ง 2 สาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก อย่างสายใต้ หรือสายอีสานที่ประมูลก่อนหน้านั้น ราคาจะต่ำเฉลี่ย 2%
รถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสานนี้ เป็นเส้นทางใหม่ ไม่มีเส้นทางรถไฟมาก่อน สายเหนือต้องเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขา มีประเด็นด้านเทคนิค มูลค่าโครงการจึงสูงกว่าสายอื่นๆ แต่ประเด็นที่ราคาประมูลออกมาต่ำแค่ 0.08% ผิดสังเกต
“เงินเหล่านี้ไม่ใช่ของ รฟท. แต่เป็นของประชาชนทุกคน เป็นหน้าที่ที่สหภาพฯ จะช่วยกันตรวจสอบได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและของทุกคน ต้องช่วยกันหาคำตอบ โดยขอเรียกร้องให้นายกฯ ในฐานะคนกลางเข้ามาตรวจสอบกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบมากกว่านี้เพื่อให้ประชาชนหายสงสัย และเพื่อความเชื่อมั่นในการประมูลโครงการใหญ่“
ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประมูล กว่าจะทำสัญญาคาดว่าจะเป็นเดือนสิงหาคม หลังจากนี้ยังพอมีเวลาตรวจสอบ ส่วนจะล้มหรือไม่ล้มประมูลอยู่ที่ผลการตรวจสอบว่ามีความถูกต้องโปร่งใสหรือไม่