xs
xsm
sm
md
lg

CRG ผุดสารพัดโมเดลกลุ่มเบเกอรี “สามล้อยันลูกค้าไลฟ์ขายให้” สู้โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360ื- ซีอาร์จีปรับกลยุทธ์กลุ่มเบเกอรีและเครื่องดื่ม B&B รับโควิดลามต่อเนื่อง ลุยนอกศูนย์การค้าผุดโมเดลใหม่สารพัดรูปแบบ นำร่องขายแฟรนไชส์มิสเตอร์โดนัทและอานตี้แอนส์ เผยช่องทาง C2C มาแรง ดันเป้าปีนี้รายได้สู่ 2,900 ล้านบาท

นายสุชีพ ธรรมาชีพเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ “ซีอาร์จี” เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่ บริษัทฯ ต้องปรับแผนและกลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวิถีชีวิตใหม่รวมทั้งพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วย 

โดยปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 220 ล้านบาทในกลุ่มธุรกิจ Bakery & Beverage Cuisine ของซีอาร์จีซึ่งประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) และ อาริกาโตะ (Arigato) รวมกับ 1 โรงงาน คือ ซีอาร์จี แมนูแฟคเจอริ่ง (CRGM) 


ส่วนการเพิ่มแบรนด์ใหม่นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสแต่จะไม่เน้นมากนักในช่วงนี้ ซึ่งถ้ามีก็คงเป็นรูปแบบที่เข้าไปร่วมทุนหรือซื้อกิจการมากกว่าการพัฒนาแบรนด์เอง ล่าสุดคือรับสิทธิ์แบรนด์อาริกาโตะมาจากในเครือ แต่ยกเว้นทำเลในแฟมิลี่มาร์ทกับท็อปส์ ส่วนแบรนด์ที่พัฒนาเองคือ ซอฟท์แอร์ ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่เปิดตัวปีเศษที่ผ่านมาสาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์ได้ปิดบริการไปแล้ว เนื่องจากเกิดโควิด

ทั้งนี้ แผนการขยายสาขาจะเน้นการขยายนอกศูนย์การค้ามากขึ้น จากเดิมที่มีสาขาในศูนย์ฯ สัดส่วนมากถึง 90% แต่จะขยายช่องทางการจำหน่ายในทุกรูปแบบเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ในทุกที่และให้บริการได้ง่ายที่สุด เพื่อเร่งสร้างยอดขาย และตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เดินทางหรือออกนอกบ้านน้อยลง ในโมเดลใหม่ๆ เน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ขยายสาขาได้คล่องตัว เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในสถานที่และแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น

1. ร้านสแตนด์อะโลน, 2. Delco จะขยาย 50-70 จุดในปีนี้ เช่น ในปั๊มน้ำมัน, ไทวัสดุ เป็นต้น, 3. Mobile Tuk Tuk เช่นแบรนด์มิสเตอร์โนัท 5 สาขา, 4. โมเดลสามล้อ เช่นแบรนด์อาริกาโตะ 2 สาขา และการเปิดในร้านอื่นในเครืออีก 100 สาขา, 5.  การขายแฟรนไชส์มิสเตอร์โดนัทกับอานตี้แอนส์ ช่วงไตรมาสที่สาม ตั้งเป้าช่วง 2 ปีแรกจะมีสัดส่วนร้านของแฟรนไชส์ 20% 


รวมถึงช่องทางการขายใหม่ สู่ช่องทางออนไลน์และเจาะกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เกตติ้ง เช่น โฟกัสออมนิแชนเนล ซื้อสินค้า ซื้อดีลต่างๆ สั่งอาหาร ได้ทั้งแบบดีลิเวอรี และคลิก แอนด์ คอลเลกต์ (click and collect) บน Line OA, ผ่านมาร์เกตเพลซและระบบแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ชั้นนำ อย่าง Shopee Mall ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีลูกค้าให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก จึงมีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มไม่ว่าจะเป็น Lazada, JD Central และ Line shopping ต่อไปในอนาคต รวมไปถึงช่องทาง C2C หรือ Customer to Customer ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเป็นโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภคที่สามารถขยายและต่อยอดการขายในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์เปิดร้านขายบนแพลตฟอร์มของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับสิทธ์จากซีอาร์จี ทั้งการขายปลีกและการขายส่ง 

“ในสถานการณ์แบบนี้มีคนที่อาจจะมีเวลาว่าง หรือคนที่ตกงานไม่มีรายได้ แต่ยังพอมีเงินเก็บอยู่บ้างอยากจะหาธุรกิจมาเสริม เราเองก็คุยกับเจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศแล้วว่าจะหาโอกาสขายใหม่ๆ จึงคิดว่าโมเดลเหล่านี้รวมทั้งแฟรนไชส์น่าจะได้รับความสนใจ” นายสุชีพกล่าว

นอกจากการขยายช่องทางแล้วต้องสร้างโอกาสในการขายด้วย โดยพัฒนาและต่อยอดเมนูเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย และเข้าถึงง่าย เช่น เมนูแกร็บ แอนด์ โก (Grab & Go), เทกโฮม (Take home) และสินค้าพร้อมรับประทาน (RTE product) สินค้าแพลนต์เบส และการนำสินค้าในแบรนด์ต่างๆ ของเราเข้าไปวางขายในสาขาอื่นๆ ร่วมกัน


สำหรับภาพรวมของกลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 ที่ประมาณการรายได้ไว้อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท จึงปรับแผนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เช่น การบริหารจัดการงบประมาณที่จำกัด เน้นการลงทุนที่จะต้องได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และดีลิเวอรี มียอดการสั่งเติบโตจากก่อนโควิดมากกว่า 300% ในปี 64 จึงได้วางเป้ายอดขายจากช่องทางดีลิเวอรีรวมกว่า 500 ล้านบาท จากปีที่แล้วทำได้ 270 ล้านบาท

ส่วนปีนี้คาดว่าทั้งกลุ่มเบเกอรีจะทำรายได้รวม 2,900 ล้านบาท โต 18-20% และมีสาขารวม 720 แห่ง และมีรายได้จากดีลิเวอรี 500 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ทำรายได้รวม 2,430 ล้านบาท และมีสาขารวม 630 แห่ง

นายสุชีพกล่าวด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากความคึกคักของตลาดเบเกอรีจากความฮอต ฮิตของขนมครัวซองต์ ทำให้อุตสาหกรรมเบเกอรีมีการเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดเบเกอรีรวมสูงเฉียด 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ขนมปัง 53% ขนมเค้ก 22% และขนมอบ (เช่น พาย ครัวซองต์ คุกกี้) 25% คาดว่าครัวซองต์ทำให้สัดส่วนขนมอบเพิ่มมูลค่ามากขึ้น ส่วนตลาดกาแฟ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดรวมกาแฟในไทยคงที่ ไม่ได้เติบโต และไม่ได้ลดลง หากให้แยกประเภทตลาดกาแฟที่มีมูลค่ารวม 60,000 ล้านบาทนี้แบ่งเป็น ตลาดกาแฟในบ้าน 33,000 ล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จากโควิด-19 เติบโตราว 10% และตลาดกาแฟนอกบ้าน 27,000 ล้านบาท เติบโตลดลง 30-40%






กำลังโหลดความคิดเห็น