เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ความต้องการเวชภัณฑ์ และการดูแลสุขภาพ (Pharma & Healthcare) ก็เพิ่มมากขึ้น จึงมีผู้ประกอบการหลายรายมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต จึงเบนเข็มหันมารุกธุรกิจด้านนี้เพิ่มมากขึ้น กอปรกับการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้สังคมตระหนักและให้ความสนใจด้านสุขภาพอนามัยเพิ่มมากขึ้น
ไม่เว้นแม้แต่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT พี่เบิ้มในวงการพลังงานไทย ที่ได้ปูทางและวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ (New S-Curve) โดยจัดให้ธุรกิจ Life Science (ชีววิทยาศาสตร์) เป็น 1 ใน 6 ธุรกิจใหม่ที่ ปตท.จะให้ความสําคัญในการลงทุน โดย ปตท.ได้จัดตั้งบริษัทลูกอย่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ขึ้นมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เพื่อเน้นลงทุนใน 4 กลุ่มหลัก คือ ยา อาหารเพื่อสุขภาพ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและสาธารณสุขไทย
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า นับจากนี้จะเห็นการลงทุนของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ในธุรกิจ Life Science เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมการวิจัยและพัฒนาสารตั้งต้นสำหรับผลิตยา (API) สำหรับต้านโรคโควิด-19 รวมถึง API ของยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ขึ้นเองภายในประเทศในอนาคต ทำให้ไทยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ อินโนบิก (เอเซีย) ยังได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมตั้งโรงงานผลิตยาต้านมะเร็งขึ้นด้วย และ จับมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย โดยจะนำสูตรตำรับสมุนไพรดั้งเดิมของไทยมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คาดว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายในปี 2564 และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ภายในปี 2565
อรรถพลกล่าวว่า นอกเหนือจากการร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยแล้ว อินโนบิก (เอเซีย) ได้ลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,550 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท Lotus Pharmaceutical (Lotus) ราว 6.66% โดย Lotus เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจหลักในด้านการคิดค้นพัฒนา (R&D) ผลิตและจำหน่ายยา โดยมุ่งเน้นยาสามัญที่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และโรคระบบประสาท นับเป็นการลงทุนธุรกิจยาในต่างประเทศของอินโนบิก (เอเซีย) ด้วย
และเป็นช่องทางการได้มาของยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ที่ ปตท.จะนำเข้ามาจำนวน 2,000 ขวดในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 เพื่อมอบให้รัฐบาลใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ โดยอาศัยเน็ตเวิร์กของอินโนบิก (เอเชีย) ผ่านพันธมิตรอย่าง Lotus Pharmaceutical ซึ่งมีฐานทำการตลาดยาทั้งในไต้หวัน เกาหลี และสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน ปตท.จะนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อกระจายฉีดให้พนักงานในกลุ่ม ปตท.และประชาชนในภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐและกระจายการฉีดวัคซีนด้วย
อรรถพลกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในกลุ่ม ปตท.นั้น อินโนบิก (เอเซีย) ได้ร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “อินโนโพลีเมด” โดยตั้งโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์และแผ่นกรองอากาศ โดยใช้เม็ดพลาสติก PP melt blown grade ที่ไออาร์พีซีผลิตได้เอง คาดว่าโรงงานดังกล่าวจะเริ่มผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4/2564 นับเป็นก้าวสำคัญในการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ
สำหรับธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพนั้น อินโนบิก (เอเซีย) ได้ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) แบบครบวงจร โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดยตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าชั้นสูงในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี รวมไปถึงการพัฒนาร้านค้าต้นแบบ คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 /2565 โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกของโลก
โดยผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชจะทำมาจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปสมัยใหม่มาพัฒนารสชาติ รูปลักษณ์ กลิ่น และผิวสัมผัสให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ตลอดจนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพที่ต้องการโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม
การเร่งลงทุนในธุรกิจใหม่ของ ปตท. ทำให้ทิศทางธุรกิจ Life Science และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้าและสร้างรายได้กลับเข้าสู่ ปตท. โดยตั้งเป้าว่าในปี 2573 สัดส่วนการสร้างรายได้ของ ปตท.มาจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 10% ธุรกิจใหม่ 10% และธุรกิจปัจจุบัน 80% จึงไม่น่าแปลกใจหากในอนาคตจะเห็น “อินโนบิก (เอเซีย)” เป็นบริษัทน้องใหม่ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเทรนด์ธุรกิจ Life Science มาแรงและมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดี
ราช กรุ๊ปแตกไลน์รุกธุรกิจเฮลท์แคร์
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่แตกไลน์ธุรกิจพลังงานมาสู่ธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) เป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้ราว 2-3 ปี ราช กรุ๊ปชิมลางลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ตลอดจนโครงข่ายใยแก้วนำแสงตามแนวทางรถไฟและทางหลวง เป็นต้น
ล่าสุด ราช กรุ๊ปตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) คิดเป็นสัดส่วน 10% มูลค่าการซื้อขาย 1,557.70 ล้านบาทเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป กล่าวว่า โมเดลการลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพมีความใกล้เคียงกับธุรกิจระบบสาธารณูปโภคหรือการผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงและต้องใช้เวลาในการคืนทุน ที่สำคัญ มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงและบริหารผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้เวลาในการศึกษาธุรกิจบริการสุขภาพราว 1-2 ปีก่อนตัดสินใจเข้าร่วมถือหุ้นใน PRINC โดยธุรกิจบริการสุขภาพเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม มีอัตรากำไรตัวเลข 2 หลัก แม้ว่าระยะแรกการดำเนินธุรกิจจะต้องแบกรับภาระขาดทุนบ้าง แต่ระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีและยังเป็นธุรกิจที่ดูแลชุมชนสังคมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัท โดยทาง PRINC มีเป้าหมายในการสร้างฐานโรงพยาบาลในเมืองรองทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดย PRINC มีเป้าหมายขยายโรงพยาบาลรวม 20 แห่งจากปัจจุบันมีจำนวน 11 แห่งใน 10 จังหวัด และขยายเครือข่ายปฐมภูมิที่เป็นคลินิกบัตรทอง จากปัจจุบันเปิดดำเนินการ 13 แห่งเพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศในปี 2565 คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 5-6 พันล้านบาท
กิจจากล่าวย้ำว่า ในไทย ธุรกิจบริการสุขภาพมีศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาว จากสภาวะสังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมความสนใจการดูแลสุขภาพของคนในสังคมที่มีเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเฉพาะการบริการทางการแพทย์และบริการส่งเสริมสุขภาพเท่านั้น บริษัทฯ มองโอกาสการลงทุนต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพด้วย
บี.กริมเปิดคลินิก “พรีโมแคร์”
บี.กริม เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีประวัติการทำธุรกิจในเมืองไทยมาอย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อเนื่องมากว่า 140 ปี โดยเริ่มแรกได้จัดตั้งห้างสยามดิสเป็นซารี่ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ นับเป็นร้านยาแพทย์สมัยใหม่แห่งแรกของไทย หลังจากนั้นก็มีการขยายธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น จนปัจจุบันธุรกิจไฟฟ้าได้สร้างรายได้และกำไรให้ บี.กริมอย่างสม่ำเสมอ
กล่าวได้ว่า บี.กริม อยู่ในแวดวงเฮลท์แคร์มาโดยตลอด ด้วยการเข้าเป็นหุ้นส่วนองค์กรหลายแห่งที่จัดหาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ป้อนตลาด และในปีนี้ บี.กริมประกาศความพร้อมที่จะรุกธุรกิจเฮลท์แคร์อย่างเต็มที่ โดยเปิดตัวคลินิก “พรีโม แคร์” (Primo Care Medical) เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเป็นสาขาต้นแบบ ณ อาคารไวท์เฮ้าส์ บี.กริม สำนักงานใหญ่ ถ.กรุงเทพกรีฑา เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ได้แก่ ตรวจรักษาโรคทั่วไป คัดกรองความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ตลอดจนบริการจิตบำบัด, กายภาพบำบัด, โภชนบำบัด ในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยต้องการ โดยปีนี้มีเป้าหมายขยายเพิ่มอีก 3-5 แห่งในกรุงเทพฯ และในอนาคตจะขยายไปต่างจังหวัด นับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ป่วยในการตัดสินใจเลือกรักษาและดูแลสุขภาพ