xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่มปีละ 1 พัน MW

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.เผยเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล 8 พันเมกะวัตต์และพลังงานหมุนเวียนอีก 8 พันเมกะวัตต์ในปี 2573 กลุ่ม ปตท.จะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มราวปีละ 1 พันเมกะวัตต์ โดยให้ GPSC เป็นแกนนำการลงทุน ขณะเดียวกันไม่ปิดกั้นบริษัทในเครือลงทุนได้อย่าง ปตท.สผ.มีโครงการ Gas to Power แต่ถือหุ้นธุรกิจไฟฟ้าแค่ 20%

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทมีเป้าหมายขยายการลงทุนธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและถ่านหินให้ครบ 8 พันเมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) อีก 8 พันเมกะวัตต์ในปี 2573 โดยให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.ที่จะขยายการเติบโตในธุรกิจไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังเข้าไปลงทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 เพื่อให้ GRP มีความเข้มแข็งในแหล่งเงินทุนเพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

อีกทั้ง ปตท.ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทในเครือที่จะมองหาโอกาสเข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าด้วย เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีแผนจะลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) หรือโครงการ Gas to Power ซึ่งจะร่วมมือกับ GPSC ต่อยอดฐานการลงทุนเดิม เช่น ในเมียนมา และเวียดนาม ของ ปตท.สผ.ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อยู่แล้ว ก็มองโอกาสต่อยอดไปสู่การผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคตด้วย

แต่เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้าไม่ใช่ธุรกิจหลักของ ปตท.สผ. ดังนั้น ปตท.สผ.จะถือหุ้นธุรกิจไฟฟ้าราว 20% ตามกลยุทธ์ลงทุน โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไรจากธุรกิจใหม่ สัดส่วนประมาณ 20% ของพอร์ตโฟลิโอในช่วง 10 ปี หรือภายในปี 2573

“ธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.ก็ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ไปจนถึงปี 2573 ตอนนี้ก็มีดีลกันอยู่หลายดีล ไม่ง่าย โดยในส่วนของธุรกิจ New Energy และ New Business ปตท.ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้อย่างละ 10% ของพอร์ตโฟลิโอในปี 2573”

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่แหล่งเยตากุน ในเมียนมา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติและมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ให้แก่ประเทศไทย จะหยุดจ่ายก๊าซฯ เร็วกว่าสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยเพราะสามารถจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งอื่นๆ ได้ เช่น อ่าวไทย รวมถึงยังสามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทนได้ ส่วนแหล่งเยตากุน หยุดจ่ายก๊าซฯ เร็วกว่าสัญญาซื้อขายก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามสภาพธรรมชาติของแต่ละแหล่งก๊าซฯ

นอกจากนี้ ในส่วนของความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ก็อยู่ระหว่างการหารือกับทางกลุ่มเชฟรอนฯ และกระทรวงพลังงาน ซึ่งก็จะต้องพยายามเข้าพื้นที่ให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณจะสิ้นสุดในปี 2565 ทำให้เชฟรอนสิ้นสุดการเป็น Operator และ ปตท.สผ.จะเข้ามาเป็น Operator ใหม่ในแหล่งเอราวัณภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่มีภาระผูกพันที่ต้องผลิตก๊าซฯ ไม่น้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น