xs
xsm
sm
md
lg

รายงานล่าสุดระบุ 20 บริษัทยักษ์ใหญ่ ผลิตขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากถึง 50%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขยะพลาสติกบนหาด Kedonganan เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมกราคม
"ดัชนีผู้ผลิตขยะพลาสติก" ฉบับแรก จัดพิมพ์โดยมูลนิธิ Minderoo Foundation ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในออสเตรเลียคำนวณว่า บริษัท 20 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ เป็นแหล่งที่มาของขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ ยังชี้ว่า การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมีแนวโน้มที่จะเติบโต 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนและมลพิษทางทะเล

ดัชนีนี้ใช้แหล่งข้อมูลหลายแหล่ง เพื่อติดตามวัสดุพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่เป็นพอลิเมอร์ไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป กลายเป็นของเสีย ตลอดจนถึงการกำจัด ดัชนีดังกล่าวรายงานว่า ในปีพ.ศ.2562 มีการทิ้งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจำนวน 130 ล้านเมตริกตันไปทั่วโลก โดย 35%ถูกเผา 31%ถูกฝังในหลุมฝังกลบที่มีการจัดการ และ19%ทิ้งโดยตรงบนบกหรือในมหาสมุทร

นักวิจัยเผยแพร่รายชื่อบริษัทที่ผลิตและให้ทุนสนับสนุนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงช้อปปิ้ง ถ้วยกาแฟและฟิล์ม ที่ทำจากโพลีเมอร์ซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัสดุฐาน

ExxonMobil ติดอันดับดัชนีผู้ผลิตพอลิเมอร์ที่สร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยมีสัดส่วน 5.9 ล้านตัน ในปี 2019 ตามรายงานที่พัฒนาโดย Wood Mackenzie ที่ปรึกษาด้านพลังงานและนักวิจัยจาก Think-Tank

อย่างไรก็ตาม เอ็กซอนโมบิล กล่าวว่า กำลังดำเนินการเพื่อจัดการกับขยะพลาสติก โดยการเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิล สนับสนุนความพยายามในการกู้คืนขยะพลาสติกมากขึ้น และดำเนินการแก้ปัญหาการรีไซเคิล เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์

ขยะหน้ากากอนามัยและขยะต่างๆ ที่ก้นทะเลแดง เมื่อเดือนตุลาคม
รายงานระบุว่า เกือบ 60% ของเงินทุนสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมาจากธนาคารทั่วโลก 20 แห่งที่ให้เงินกู้เกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการผลิตโพลีเมอร์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2554

อดีตรองประธานาธิบดีอัลกอร์ของสหรัฐฯ กล่าวในคำนำของรายงานว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติกเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพลาสติกส่วนใหญ่ทำมาจากน้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะก๊าซที่ผ่านกระบวนการผลิตและการบริโภคพลาสติกจึงกลายเป็นตัวขับเคลื่อนวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกับประเทศขนาดใหญ่

ผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า การประมาณการทางวิชาการเกี่ยวกับ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ของขยะพลาสติก ระบุว่า วงจรชีวิตทั้งหมดของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวคิดเป็นประมาณ 1.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปี 2562 โดยมีโพลีเมอร์เป็นหลัก และปัจจุบัน เส้นทางการเติบโตของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอาจมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5-10% ต่อปีภายในปี 2593

มูลนิธิมินเดอรู กล่าวว่า บริษัทปิโตรเคมีควรต้องเปิดเผย “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของขยะพลาสติก” หรือ "รอยเท้าขยะพลาสติก" และมุ่งมั่นที่จะผลิตพลาสติกจากขยะพลาสติกรีไซเคิลแทนที่จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ธนาคารและนักลงทุนลดเงินลงทุนสำหรับบริษัทที่ผลิตพลาสติกบริสุทธิ์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ไปสู่บริษัทที่ใช้วัตถุดิบพลาสติกรีไซเคิล

ที่มา - CNN


กำลังโหลดความคิดเห็น