จีเอเบิล (G-Able) ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปีมั่นใจบริษัทโตต่อเนื่องก้าวกระโดด ระบุกำลังศึกษาวิธีระดมทุนเพื่อคว้าโอกาสดีในการขยายธุรกิจแบบมีนัยสำคัญช่วงหลังโควิด-19 โฟกัสลงทุนเพิ่มเรื่องการสร้างสิทธิบัตรเพื่อให้บริษัทแตกต่างจากคู่แข่ง ปูทางเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มข้อมูลบนคลาวด์แห่งแรกในประเทศไทย ประเดิม 3 แพลตฟอร์มเรือธงจุดพลุปีนี้
การประกาศแผนธุรกิจรอบนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสัญชาติไทย มีมติแต่งตั้ง ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อลุยภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ บนเป้าหมายให้จีเอเบิลเป็นผู้นำด้านดิจิทัลโซลูชันของไทยอย่างยั่งยืน
วันนี้ จีเอเบิลสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ยอดขายรวมมากกว่า 5,800 ล้านบาทในปี 64 เพิ่มขึ้นจาก 4,400 ล้านบาทในปี 61 จากแผนที่วางไว้ จีเอเบิลเชื่อว่า 5 ปีนับจากนี้บริษัทจะเติบโตเป็นสัดส่วนเลข 2 หลักทุกปี จนอาจพารายได้เกินหลัก 8 พันล้านบาทในปี 68 อานิสงส์จากการให้บริการ 4 กลุ่มโซลูชันหลักที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก ร่วมกับบริการใหม่ที่ผลักดันให้บริษัทต่อยอดกำไรเพิ่มขึ้น ขยายฐานจากปัจจุบันที่จีเอเบิลมีลูกค้าเป็น 12 ธนาคารขนาดใหญ่ 20 มหาวิทยาลัย 5 บริษัทอสังหาฯ 3 ค่ายโอเปอเรเตอร์ และอีกหลายองค์กรชั้นนำในประเทศไทย
***แข่งด้วยความต่าง
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิล กล่าวว่า ภาพรวมการแข่งขันของตลาดระบบสารสนเทศทั่วโลกนาทีนี้มีการขยายตัวตลอดเวลา การเติบโตทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคล้วนทำให้ธุรกิจผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอที หรือ SI (System Integration) มีฐานตลาดที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่สิ่งที่ตามมาคือการแข่งขันที่สูงขึ้น เมื่อรูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป SI สัญชาติไทยอย่างจีเอเบิลต้องหาความแตกต่างให้โดดเด่นในตลาด
“ช่วงโควิด-19 เรามองว่าต่อจากนี้จะต้องมีกระบวนการทำงานอย่างไรให้ส่งมอบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จีเอเบิลเริ่มปรับใช้เครื่องมือใหม่ มีการประสานงานทั้งในส่วนลูกค้าและตัวบริษัท โดยเฉพาะฝ่ายขายที่จะต้องปรับในยุคที่ผู้คนซื้อน้อยลงในช่วงการระบาด ทำอย่างไรให้จีเอเบิลเข้าสู่ตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดที่ตกไป” นาถระบุ “ขณะนี้บริษัทมองที่ตลาดหลังโควิด-19 เพราะเชื่อมั่นว่าเมื่อการระบาดมีอิมแพกต์ลดลงแล้ว ตลาดจะกลับมา ดังนั้น บริษัทจึงโฟกัสที่การลงทุนใหม่เพื่อให้ลูกค้าองค์กรสามารถปรับตัวตามตลาดได้”
การลงทุนใหม่จะโฟกัสที่การสร้างความแตกต่าง บนความเชื่อว่าบริษัทสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดได้ใน 3 ข้อ โดยทั้ง 3 ข้อจะเป็นแผนระยะยาวที่ถูกยึดเป็นพิมพ์เขียวในการบริหารจีเอเบิลช่วง 5 ปีจากนี้
ข้อแรกที่จีเอเบิลตกผลึก คือ การขยายธุรกิจด้วยการวางตัวเองเป็น “เอสไอพลัสพลัส” (SI++) ส่วนนี้บริษัทวางเป้าหมายเติบโตด้วย 4 โซลูชันดาวรุ่งได้แก่ G Cloud, G Security, G Big Data และ G RPA ซึ่งกลุ่มหลังสุดเป็นโซลูชันการทำงานแบบอัตโนมัติที่ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนให้การดำเนินธุรกิจ
ชัยยุทธ ชุณหะชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล อธิบายว่า แม้ยุคนี้ไม่ใช่ช่วงท็อปของอุตสาหกรรมโลก โดยเฉพาะเมื่อมีโควิด-19 หลายธุรกิจก็ยิ่งไม่สดใส แต่ธุรกิจเดียวที่เติบโตไม่หยุดคือธุรกิจด้านดิจิทัล และ 4-5 เทรนด์ดิจิทัลที่ขยายตัวเร็วในขณะนี้ล้วนอยู่ในโซลูชันที่จีเอเบิลมีให้บริการ
“คลาวด์คือ The next big things โดยเฉพาะในประเทศไทย ตลาดคลาวด์มีแนวโน้มเติบโต 32% ถือว่าใหญ่มากเพราะปัจจุบันไม่มีธุรกิจไหนที่เติบโตเกิน 10% ตลาดคลาวด์ที่เติบโตยังทำให้ตลาดซิเคียวริตีขยายตัวมากขึ้นอีก ทั้งระบบตรวจสอบจุดอ่อนเพื่อป้องกันการโจมตี รวมถึงการมีตัวช่วยเพื่อตรวจจับแก้ปัญหาได้ทันเวลา ทั้งหมดนี้จะสามารถทำให้ลูกค้ากู้ธุรกิจกลับมาทำงานได้เร็วแม้จะถูกโจมตี ขณะเดียวกัน จีเอเบิลถือเป็นเจ้าแรกในไทยที่ให้บริการบิ๊กดาต้า ทำให้บริษัทมีประสบการณ์ครบทุกมิติที่องค์กรต้องการ ช่วยให้บริษัทค้าปลีกที่มีสาขาจำนวนมากสามารถลดเวลาการประมวลผลข้อมูลจากที่เคยใช้เวลาเป็นวัน ลดลงเหลือเป็นชั่วโมง นาที และวินาที การประมวลผลที่เร็วขึ้นทำให้บริษัทสามารถวางกลยุทธ์ได้เร็วขึ้น”
นอกจากการวางตัวเป็น “เอสไอพลัสพลัส” ข้อ 2 ที่จีเอเบิลมองคือ การสร้างทางเลือกใหม่สำหรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในรูปแบบบริการ หรือ Transformation As a Service (TAAS) เป็นการให้บริการโซลูชันที่ช่วยด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรคือบริษัท ไฟร์ วัน วัน จํากัด
โฟร์ วัน วันเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการทำบิซิเนสทรานส์ฟอร์เมชันชั้นนำระดับประเทศ ทั้ง 2 บริษัทจึงร่วมพัฒนาคุณค่าและโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยการผสมผสานระหว่างความสามารถทางด้านดิจิทัลของจีเอเบิล และความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจของไฟร์ วัน วัน เพื่อนำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมในทุกมิติให้แก่ลูกค้า ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์ไปจนถึงการต่อยอดทางธุรกิจ โดยกลยุทธ์ธุรกิจ TAAS นี้เองที่จะเป็นตัวช่วยในการสร้างรายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ (new S-curve) ให้แก่จีเอเบิลต่อไปในอนาคต
“เราเอาธุรกิจเป็นตัวตั้งแล้วนำเทคโนโลยีเข้าไปจับเพื่อให้เป้าหมายของลูกค้าเกิดขึ้นได้จริง ตรงนี้เทคโนโลยีจะเป็นแค่ส่วนประกอบ ทำให้จีเอเบิลมองเป้าไปที่พนักงาน แผนธุรกิจ รวมถึงองค์ประกอบอื่นที่จะต้องปรับตัวตามไปด้วย จะทำให้มีการวางแผนว่าสิ่งใดต้องลงทุนหรือไม่จำเป็นต้องลงทุน”
***ลุยสร้างสิทธิบัตรตัวเอง
อีกจุดที่ไม่เพียงแค่สร้างรายได้ให้จีเอเบิล แต่ยังช่วยให้บริษัทแตกต่างจากคู่แข่ง คือ ข้อที่ 3 การสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นสิทธิบัตรของจีเอเบิลเอง (IP Platform)
ชัยยุทธ อธิบายว่า หลังจากจีเอเบิลร่วมงานกับลูกค้ามานานปี บริษัทได้พบ 2 ความต้องการที่ชัดเจน ความต้องการแรกคือผู้บริหารองค์กรต้องการข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลธรรมดา แต่จะต้องเป็นข้อมูลคุณภาพเพื่อนำไปวิเคราะห์ ดังนั้น บริษัทจึงสร้างสรรค์เป็นแพลตฟอร์มชื่อเบลนดาต้า (Blendata) ให้สามารถนำไปใช้เสริมกับระบบขององค์กร เพื่อดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ง่ายและสะดวก จุดนี้เชื่อว่า Blendata เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลบนคลาวด์แห่งแรกของไทย ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มเรือธงที่จีเอเบิลจะทำตลาดจริงจังในปีนี้
ความต้องการที่ 2 ที่พบ คือ องค์กรมักต้องการข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า เพื่อให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้น จีเอเบิลจึงสร้างเป็นแพลตฟอร์มชื่ออินไซท์เอรา (InsightEra) เป็นเครื่องมือที่รวมระบบวิเคราะห์มากมายเพื่อให้บริษัทรู้ความต้องการของลูกค้าซึ่งจะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ภายในจะมีระบบย่อย 3 ระบบซึ่งเน้นการทำดิจิทัลมาร์เกตติ้ง เช่น การวัดผล การทำดาต้าไมนิ่ง และการวิเคราะห์ข้อมูลจากแชตบอต ทั้งหมดนี้จะเปิดตัว 1 มิถุนายนนี้
ในภาพรวม จีเอเบิลวางเป้าหมายเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักทุกปีจนถึงปี 68 ธุรกิจ SI ดั้งเดิมจะยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 9% ต่อปี ขณะที่ธุรกิจ TASS และ IP Platform จะเป็นตัวชูโรงเพิ่มรายได้เฉลี่ยมากกว่า 31% ต่อปี ส่งให้รายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 13% โดยเฉลี่ย
“เหตุที่มั่นใจว่าธุรกิจจีเอเบิลจะสามารถขยายตัวก้าวกระโดด คือ การที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนใช้เทคโนโลยี ถือเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจไอทีให้ต่อยอดไปได้ แผนการเติบโตที่วางไว้จึงเชื่อว่าสามารถทำได้จริง” ชัยยุทธระบุ “การแข่งขันทั้งต่างประเทศและในประเทศแม้จะสูง แต่ก็เป็นตลาดที่มีพื้นที่มหาศาล จีเอเบิลเป็นบริษัทที่เข้าใจเรื่องการปรับระบบให้เข้ากับธุรกิจท้องถิ่น ขณะเดียวกัน นอกจากปัจจัยตลาดที่เติบโต รวมถึงภาวะสังคมสูงวัยที่จะเป็นส่วนผลักดันให้เทรนด์ดิจิทัลไทยเกิดขึ้นแน่นอน จุดนี้ความเข้าใจลูกค้าและการตอบโจทย์ได้ จะเป็นศักยภาพสำคัญที่ทำให้บริษัทขยายธุรกิจได้ชัดเจน”
ชัยยุทธ อธิบายเพิ่มว่า เป้าหมายรายได้และการลงทุนในปี 64 ถือเป็นการต่อยอดจากตัวเลข 5-6 พันล้านตลอดหลายปีของบริษัท ไม่เพียงตัวเลขกำไรสุทธิ แต่ชัยยุทธตั้งเป้าผลักดันให้บริษัทเพิ่ม margin หรือกำไรขั้นต้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงมองที่ธุรกิจ TASS และแพลตฟอร์มที่เป็นสิทธิบัตรของบริษัท กลายเป็น 2 พื้นที่ที่ได้รับการคาดหวังสูงว่าจะสามารถเพิ่มออนท็อปจากรายได้ปกติ
ทั้งหมดนี้ทำบนแผนการลงทุนที่จะนำไปสู่การระดมทุนหลายช่องทาง ผู้บริหารมองว่าจีเอเบิลได้สร้างสิทธิบัตรเทคโนโลยีแล้ว มีการสร้างซอฟต์แวร์โซลูชันที่แตกต่าง ดังนั้นในอนาคต จีเอเบิลจะเน้นการลงทุนสิทธิบัตรที่เกิดขึ้น ทั้งในองค์กรเองและนอกองค์กรก่อน โดยจะเลือกเฟ้นเทคโนโลยีที่จะสามารถสนับสนุนจีเอเบิลในด้านต่างๆ และอาจใช้โมเดลร่วมสร้างเพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ หรืออาจไปลงทุนเพิ่มเพื่อย้ำจุดยืนเรื่องการโฟกัสสิทธิบัตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ชี้ว่าจีเอเบิลจะแตกต่างและเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นมากน้อยแค่ไหน
“ทุนเปรียบเหมือนกระสุนในการออกรบ เรามองว่าจะระดมทุนในช่องทางที่ทำได้ จนเชื่อว่าจะทำให้จีเอเบิลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีนับจากนี้” ชัยยุทธ ระบุ
***กระสุนต้องเต็มหลังโควิด-19
ชัยยุทธ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธแผนการพาจีเอเบิลเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุเพียงว่าการเข้าตลาดเป็นหนึ่งในวิธีระดมทุนที่ได้รับความนิยม แต่ก็ยังมีวิธีอื่นที่กำลังศึกษาอยู่ คิดว่าโอกาสที่บริษัทจะเติบโตนั้นต้องรีบทำให้เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยมองว่าช่วงหลังโควิด-19 เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มดำเนินการเพื่อขยายบริษัท
ปัจจุบันรายได้หลักของจีเอเบิลกว่า 60% มาจากโครงการหรือโปรเจกต์เบส และมีรายได้ประจำ 40% เป็นฐาน ชัยยุทธมองว่าสัดส่วนนี้ถือว่ามีเสถียรภาพแต่ในอนาคตอาจปรับตัวเป็น 50 ต่อ 50 เนื่องจากต้องการเพิ่ม margin ในธุรกิจใหม่ที่เตรียมไว้
สำหรับความท้าทาย ชัยยุทธมองว่าทุกธุรกิจล้วนท้าทายในตัวเอง แต่สำหรับอุตสาหกรรมไอทีความท้าทายอยู่ที่ความเร็วเนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของจีเอเบิลในปีนี้จึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงให้ทันและรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งตลอด 32 ปีที่ผ่านมา จีเอเบิลมองว่าตัวเองสามารถทำได้ดี และเชื่อว่าจะปรับตัวให้ไม่เพียงอยู่รอด แต่จะสามารถเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้