“คมนาคม” ยันไม่เห็นด้วย กทม.ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสีเขียว ชี้ราคา 65 บาทสูงเกินต้นทุนจริง เตรียมสรุปความเห็นเสนอเลขาฯ ครม. หลัง กทม.ยังไม่ยอมส่งรายละเอียดเพิ่มเติม
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง กรณีการขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จากสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ต่อไปอีก 30 ปี หรือจนถึงปี 2602 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขอรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่ง กทม.ระบุว่าไม่สามารถให้ได้เนื่องจากเป็นความลับ และล่าสุดช่วงกลางเดือน เม.ย. 2564 ทาง กทม.ได้มีหนังสือตอบมายังกระทรวงคมนาคมอีกครั้งแต่ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ เช่นเดิม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมต้องการข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ปริมาณผู้โดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อนำมาประกอบการศึกษา และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
โดยที่ประชุมเห็นว่าเมื่อได้สอบถามขอข้อมูลรายละเอียดไปยัง กทม.หลายครั้ง แต่ กทม.ไม่จัดส่งรายละเอียดให้ ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะถามไปอีก ขณะที่การศึกษาพิจารณาใดๆ ก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีรายละเอียดจาก กทม. ดังนั้น ในสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำเสนอความเห็นไปตามหลักการและเหตุผลที่เป็นข้อเท็จจริง โดยกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาทตามที่ กทม.เสนอ
ในขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือ กทม.เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเอกสารที่ กทม.ส่งมานั้นยังไม่มีรายละเอียดตามที่กระทรวงคมนาคมต้องการและขอไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมยังคงยืนยันการคิดอัตราค่าโดยสารหลักการใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) เป็นแบบ Non-Food and Beverage ขณะที่ข้อมูล กทม.และบีทีเอส) นั้นใช้ All CPI ที่มีการนำต้นทุนอาหาร และเครื่องดื่มระหว่างการเดินทาง (Food and Beverage) มาคิดคำนวณด้วย ทำให้อัตราค่าโดยสารที่ 65 บาทยังคงสูงเกินไป
ขณะที่มีการระบุว่า การใช้ ALL CPI คำนวณจะมีค่าต่างจาก CPI Non- Food and Beverage ประมาณ 2 บาทต่อ Transection ในระยะ 20 ปีนั้น หากคำนวณว่ามีผู้โดยสารเดินทาง 700,000 Transection ต่อวัน ส่วนต่าง 2 บาทจะเท่ากับ 1.4 ล้านบาทต่อวัน หรือปีละกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตผู้โดยสารจะต้องเพิ่มมากขึ้นไปอีก ส่วนต่างจึงมีมูลค่ามหาศาล
โดยกระทรวงคมนาคมยังเห็นว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาทนั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้มีรายได้น้อย และควรกำหนดให้ต่ำกว่านี้ โดยควรมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารโซนในเมือง และโซนจากชานเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน เช่น กำหนดค่าโดยสารในเมืองเป็นแบบปลายเปิด ส่วนชานเมืองกำหนดเป็นปลายปิดที่มีเพดานขั้นสูงเพื่อช่วยผู้มีรายได้น้อย