xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิผู้บริโภคจับตา “บิ๊กป๊อก” ลักไก่ชง ครม.1 มิ.ย.ต่อสัมปทานสีเขียว ขี้นราคาซ้ำเติมประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคจับตา “บิ๊กป๊อก” ลักไก่ชงสีเขียวเข้า ครม.1 มิ.ย. ถามประชาชนยังลำบากไม่พอหรือ ขึ้นราคาล่วงหน้าแถมต้องรับภาระไปอีก 30 ปีทั้งที่เป็นบริการขนส่งมวลชน เสนอเก็บ 44 บาทตลอดสาย หลังหมดสัมปทานลดเหลือ 25 บาท

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับแจ้งให้ทราบว่าการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้ โดยกรุงเทพมหานครยืนยันใช้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียว 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนนี้ได้ นอกจากนี้ยังได้รับการคัดค้านจากทั้งคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร สภาองค์กรของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เนื่องจากปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าของกรุงเทพมหานครขาดความโปร่งใส ปกปิดข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจ และไม่มีการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนในการดำเนินการ ทำให้กำหนดอัตราค่าโดยสารราคาสูงสุดที่ 65 บาท ซึ่งไม่อยู่บนข้อเท็จจริงต้นทุนและสูงมากถึงร้อยละ 39.25 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันของประชาชน และปล่อยปละละเลยให้ภาคเอกชนทวงหนี้ 30,000 ล้านบาทต่อสาธารณะที่เข้าข่ายทวงหนี้ผิดกฎหมาย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอคัดค้านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะนำสัญญาสัมปทานล่วงหน้าสายสีเขียวเข้ารับการพิจารณาในวันอังคารหน้า เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน นอกเหนือจากปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวกรุงเทพฯ ไปอีกอย่างน้อย 30 ปี (พ.ศ. 2573-2602)

จากการศึกษาข้อมูลรายงานประจำปีของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ พบว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวเพียง 19.10 บาท, 16.30 บาท และ 13.50 บาท ในปี พ.ศ. 2562, 2561 และ 2560 ตามลำดับ จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถกำหนดอัตราราคาค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายต่อเที่ยวหากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า

หรือหากพิจารณารายได้ของบริษัทในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าที่กำหนดรายได้ของบริษัทไว้เพียง 30,000 ล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 30 ปี ขณะที่รายได้จริงของบริษัทในปี พ.ศ. 2562 สูงถึง 39,931 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นการคำนวณรายได้ของบริษัทที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ และอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนหรือไม่ และแน่นอนเป็นการสร้างภาระที่เกินควรให้ผู้บริโภค

หรือหากพิจารณาราคาค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคมที่ให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ก็มีราคาสูงสุดเพียง 49.83 บาทตลอดสายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบสายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท จนถึงระยะเวลาหมดสัมปทานในปี 2602 หากลดราคาดังกล่าวลงมา 50% สามารถมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ราคา 25 บาท กรุงเทพมหานครก็ยังคงมีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 38 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2602)

เพื่อลดปัญหาค่าครองชีพและลดค่าบริการขนส่งมวลชนของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่เป็นเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้าในการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเพื่อลดความแออัดของการจราจรบนท้องถนนและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อสุขภาพและยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ในปัจจุบัน

จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีคงราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวราคา 44 บาทตลอดสาย ตามสิทธิของบริษัทในสัญญาสัมปทานนับแต่ปัจจุบันถึงปี พ.ศ. 2572 โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท ทั้งสัมปทานเดิมส่วนต่อขยายเดิมและส่วนต่อขยายใหม่ เพื่อยึดหลักการเข้าถึงได้ของบริการขนส่งมวลชนของคนทุกคน และคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและภาระเกินสมควรของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น