xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ถก “บีทีเอส” จ่ายหนี้ 3 หมื่นล้านรถไฟฟ้าสีเขียว ขอลดความถี่ช่วงโควิด-เริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพธนาคมเรียกบีทีเอสถกแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน 3 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย บีทีเอสเสนอลดความถี่การวิ่งช่วงโควิดระบาด และเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย กลับไปพิจารณาข้อดีข้อเสีย นัดหารืออีกครั้ง 2 สัปดาห์

ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี พร้อมทีมผู้บริหารบีทีเอส ได้เข้าร่วมหารือกับผู้บริหารกรุงเทพธนาคม (เคที) นำโดยนายปิยะ พูดคล่อง ประธานกรรมการบริษัท นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร  “เรื่องแนวทางแก้ไขภาระหนี้ การเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน  

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เคทีและทางบีทีเอส ได้นัดหารือเรื่องของปัญหาหนี้สินที่ทางบีทีเอสได้ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย (สำโรง-เคหะฯ) รวมระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี ซึ่งทางบริษัทฯ ยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถ และได้ทวงถามจำนวนหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท จากการหารือ คณะกรรมการบริหารของเคทีไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามติดตามทวงถาม ซึ่งเบื้องต้น ทางสภากรุงเทพมหานคร ฝ่ายบริหาร กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ส่งหนังสือไปทางรัฐบาลแล้วทั้งสองฝ่ายก็อยากให้ทางรัฐบาลช่วยในเรื่องนี้ ตามแนวทาง 3 ข้อ ดังนี้

1. ขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

2. วิธีร่วมลงทุนตามคำสั่ง คสช.ปี 2562

3. ให้ กทม.โอนกลับไปให้ รฟม.บริหารงาน

“บีทีเอสไม่ได้เป็นห่วงเรื่องสัมปทาน แต่เราห่วงเรื่องของหนี้สินที่เกิดขึ้นซึ่งมียอดที่สูงมาก เนื่องจากบริษัทบีทีเอส กรุ๊ปฯ เป็นบริษัทมหาชน เราต้องมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งขณะนี้มีประชาชนถือหุ้นอยู่แสนกว่าราย ตัวบีทีเอส กรุ๊ปฯ เคที และ กทม. แน่นอนอยากจะให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรค ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน ตอนนี้ก็มีการคุยกันว่าทำอย่างไร ระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เราต้องเดินรถต่อไปให้ได้” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การที่เราไม่ได้รับค่าจ้างมันก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพียงแต่หารือกันว่ามีแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายหรือไม่ ประกอบด้วยขณะนี้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวไรโคโรนา 2019 (COVID-19)  และผู้โดยสารของรถไฟฟ้าลดจำนวนไปค่อนข้างมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดเที่ยววิ่งลงนอกเวลาเร่งด่วนเพื่อให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง

อีกแนวทางหนึ่งคือ กทม.หรือเคทีจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งนับตั้งแต่สถานีสำโรง สถานีแรกที่เปิดให้บริการ จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 4  ปีแล้วที่ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสารเลย เบื้องต้นทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย ทางบีทีเอสและทางกรุงเทพธนาคมจะกลับไปคุยในรายละเอียดทั้งเรื่องข้อดี ข้อเสีย และจะกลับมาคุยกันใหม่อีกครั้งในอีก  2 สัปดาห์ ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่เราจะพยายามอย่างดีที่สุด ทำทุกวิถีทางให้ไม่กระทบต่อผู้โดยสารมากที่สุด และจะไม่หยุดการเดินรถอย่างแน่นอน เราขอเรียนว่าที่เราทำทั้งหมดเราไม่ได้ต้องการสัมปทาน เราอยากให้ทุกคนทราบว่าที่เราให้บริการเดินรถรับจ้างแล้วเราไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนเรื่องสัมปทานเป็นเรื่องการเจรจาของทางรัฐบาล และ กทม.
 

 

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี


กำลังโหลดความคิดเห็น